Performance Intervention Using a Psychological Approach | วิธีดูแลสุขภาพจิต ให้ส่งผลต่อประสิทธิภาพพนักงาน

หากองค์กรต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านสุขภาพจิตของพนักงานให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน มีการพัฒนาศักยภาพและประสิทธิภาพของพนักงานแล้ว ย่อมจะต้องใช้วิธีการสนับสนุน หรือ แทรกแซงด้วยแนวทางจิตวิทยาเชิงรุก (proactive psychological support/intervention approarch)

ตอนที่ 1: เข้าใจภาพรวมของปัญหาสุขภาพจิตของพนักงานที่ส่งผลต่อการทำงาน (ก่อนเริ่มวางแผน)

รู้หรือไม่? มีการพบว่าราว 15% ของวัยทำงาน มีปัญหาสุขภาพจิต จากการสำรวจของ WHO ปี 2019 และมีการคาดการณ์ว่าปัญหาสุขภาพจิตอย่างอาการซึมเศร้าและอาการตื่นตระหนก ทำให้เกิดการสูญเสีย “วันทำงาน” รวมกันทั่วโลกกว่า 12 พันล้านวัน ซึ่งทำให้ส่งเกิดมูลค่าความสูญเสียผลผลิต (Productivity) ปีละ 1 พันล้านเหรีญสหรัฐ (อ้างอิงจากบทความที่ตีพิมพ์ในเว็บไซต์ของ WHO “Mental health at work 28/09/2022”)
วิธีดูแลสุขภาพจิต ให้ส่งผลต่อประสิทธิภาพพนักงาน
วิธีดูแลสุขภาพจิต ให้ส่งผลต่อประสิทธิภาพพนักงาน

ในขณะที่ บทความวิชาการที่ตีพิมพ์ใน Indian Journal of Psychiatry เมื่อเดือนมกราคม 2024 เรื่อง “CLINICAL PRACTICE GUIDELINES Mental health and well-being at the workplace” ก็ได้กล่าวในทำนองเดียวกันว่า จากการประมวลผลการประเมินสุขภาวะทางจิตจากหลายแหล่งพบว่า กลุ่มแรงงานในระบบมากถึง 10%-52.9% มีภาวะซึมเศร้า 7%-57% มีภาวะตื่นตระหนก 3.8%-75.5% มีความเครียดจากสถานที่ทำงาน ซึ่งที่น่าสนใจคือ มีผลจากการสำรวจคนทำงานจำนวน 800 ตัวอย่าง โดย the White Swan Foundation พบว่า

  • เพียง 24.6% “รู้สึก” ว่าองค์กรของพวกเขาให้การสนับสนุนพนักงานด้านปัญหาสุขภาพจิตอย่างมาก
    • แต่มีเพียง 1/4 ที่ได้รับการสนับสนุนด้านสุขภาพจิตจากองค์กรจริง
    • และเพียง 1/10 ได้เข้าร่วมใช้บริการโปรแกรมสนับสนุนพนักงาน (Employee Assistance Program, EAP) ขององค์กร
ผลกระทบของปัญหาสุขภาพจิตต่อผลผลิต (Productivity)

นอกจากนี้ บทความ Shift Work and Poor Mental Health: A Meta-Analysis of Longitudinal Studies ยังสรุปผลวิเคราะห์ 7 งานศึกษาวิจิยกับกลุ่มตัวอย่างวัยทำงานรวม 28,431 คน เปรียบเทียบระหว่างกลุ่มคนที่ทำงานเป็นกะ กับกลุ่มคนที่ทำงานตามเวลางานปกติ ซึ่งพบว่า “การทำงานเป็นกะ” (Shift work) มีความสัมพันธ์กับปัญหาสุขภาพที่เพิ่มขึ้นของคนทำงานถึง และคนที่ทำงานเป็นกะ มีปัญหาสุขภาพจิตมากกว่ากลุ่มที่ทำงานตามเวลาปกติราว 30% โดยเฉพาะปัญหาซึมเศร้า และกลุ่มผู้หญิงที่ทำงานเป็นกะมีปัญหาสุขภาพจิตมากกว่ากลุ่มผู้หญิงที่ไม่ได้ทำงานเป็นกะถึง 70%

ปัญหาสุขภาพจิตของผู้หญิงในที่ทำงาน

13 ปัจจัยที่ส่งผลต่อสภาพจิตใจและสุขภาพจิตในที่ทำงาน โดย WHO: Mental health at work 28/09/2022

  1. การใช้ทักษะน้อยเกินไปหรือมีทักษะน้อยในการทำงาน
  2. ปริมาณงานที่มากเกินไป มีความเร่งรีบในการทำงาน การมีพนักงานไม่เพียงพอ
  3. ชั่วโมงที่ยาวนาน ไม่มีการเข้าสังคม หรือเวลาไม่ยืดหยุ่น
  4. ขาดการควบคุม การออกแบบงานหรือปริมาณงาน อย่างเหมาะสม
  5. สภาพการทำงานทางกายภาพไม่ปลอดภัยหรือไม่ดี
  6. วัฒนธรรมองค์กรที่ทำให้เกิดพฤติกรรมเชิงลบ
  7. การสนับสนุนที่ไม่เพียงพอจากเพื่อนร่วมงาน หรือการกำกับดูแลแบบเผด็จการ
  8. ความรุนแรง การคุกคาม หรือการกลั่นแกล้ง
  9. การเลือกปฏิบัติและการกีดกัน
  10. บทบาทงานที่ไม่ชัดเจน
  11. การส่งเสริมตัวพนักงาน​ (ด้านความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน) น้อยหรือมากเกินไป
  12. ความไม่มั่นคงในการทำงาน เงินเดือนไม่เพียงพอ หรือองค์กรลงทุนในการพัฒนาทักษะอาชีพอย่างไม่เหมาะสม (ไม่ตรงจุด หรือน้อยเกินไป)
  13. ความต้องการทางบ้าน และที่ทำงานที่ขัดแย้งกัน เช่น เวลาให้ครอบครัวและเวลาการทำงาน ไม่สอดคลอ้งกัน
จะเห็นได้จากปัจจัยของปัญหาสุขภาพจิตของพนักงานว่า องค์กรไม่สามารถแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตเหล่านั้น ด้วยการสร้างโปรแกรมสนับสนุนพนักงานดูแลสุขภาพใจ ที่มีเพียงการมีโปรแกรมคลายเครียด เช่น การฝึกสมาธิ การนวดผ่อนคลาด การเข้าอบรมด้านจิตใจ หรือเข้าปรึกษากับจิตแพทย์ หรือนักบำบัดใด ๆ ได้ เนื่องจากเป็นการแก้ไขที่ปลายเหตุ (reactive approach) หากองค์กรต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านสุขภาพจิตของพนักงานให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน มีการพัฒนาศักยภาพและประสิทธิภาพของพนักงานแล้ว ย่อมจะต้องใช้วิธีการสนับสนุน หรือ แทรกแซงด้วยแนวทางจิตวิทยาเชิงรุก (proactive psychological support/intervention approarch) ซึ่งจะได้กล่าวถึงวิธีการต่าง ๆ ในบทความต่อ ๆ ไป

4 กลุ่มปัญหาที่ส่งผลต่อสภาพจิตใจและสุขภาพจิตในที่ทำงาน

ทั้งนี้ เมื่อเรานำ 13 ปัจจัยที่ส่งผลต่อสภาพจิตใจและสุขภาพจิตในที่ทำงานข้างต้น มาแยกจำแนกเป็นกลุ่มหัวข้อก็จะพบว่า มี 4 กลุ่มปัญหาดังนี้

  1. นโยบายบริหารงานองค์กร
  2. วัฒนธรรมองค์กร
  3. รูปแบบการบริหารจัดการการทำงาน:
    • การออกแบบงาน
    • รูปแบบการทำงาน
    • หน้าที่ความรับผิดชอบ
    • การจัดสภาพแวดล้อม
    • การสนับสนุนด้วยสิ่งอำนวยความสะดวก และทีมงาน
  4. การจัดการบุคคลากร
    • ทัศนคติ ทักษะ และพฤติกรรมของผู้บริหาร หัวหน้างาน
    • ทัศนคติ ทักษะ และพฤติกรรมของพนักงานระดับปฏิบัติการ
    • ความเข้าใจในบุคลากรแบบรายบุคคล และการสนับสนุนที่เหมาะสม
4 กลุ่มปัจจัยที่ส่งผลต่อสุขภาพจิตในที่ทำงาน

แน่นอนว่า บางกลุ่มของปัญหาองค์กรเองไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ เช่น การทำงานเป็นกะ การทำงานที่เร่งรีบ หรือการทำงานที่ยาวนาน เป็นต้น แต่กระนั้น ผู้บริหารก็สามารถให้พื้นที่ จัดให้มีวิธีการช่วยสนับสนุนในรูปแบบต่าง ๆ ได้ไม่มากก็น้อย ตามแต่เงื่อนไขของแต่ละองค์กร และบางกลุ่มปัญหาก็สามารถแก้ไขได้ด้วยทีมภายในองค์กรเอง แต่บางครั้งก็อาจต้องมีบุคคลที่ 3 มาช่วยในการจัดการ เนื่องจากการมุมมองจาก “คนนอก” องค์กรอาจช่วยสะท้อนมุมมองที่แตกต่าง ทำให้ตระหนักถึงปัญหาแท้จริงที่ซ่อนอยู่ที่อาจถูกมองข้ามไปได้บ่อยครั้ง รวมถึง แก้ปัญหาที่สร้างสรรค์และการทลายข้อจำกัดเดิม ๆ ในองค์กรได้เช่นกัน

ในบทความถัดไป ๆ เราจะเจาะลึกในการวางแผน การทำกระบวนการแก้ไขปัญหา และวิธีการสนับสนุนหรือแทรกแซงในรูปแบบต่าง ๆ พร้อมผลการศึกษา (case studies) โปรดกดติดตามในช่องทางที่ท่านสะดวก เพื่อจะได้ไม่พลาดบทความดี ๆ จากเรา



References:

บทความอื่น ๆ