5 วิธีสังเกตสุขภาพใจตัวเองเพื่อคนใกล้ตัว
กว่า 30% ของปัญหาที่ใจฟูได้ให้คำปรึกษาดูแลสุขภาพใจพนักงานองค์กร เป็นปัญหาสุขภาพใจที่เกิดขึ้นจากเรื่องภายในครอบครัว ปัญหาความสัมพันธ์ที่เรื้อรัง หรือเป็นผลของปัญหาสุขภาพจิตของตัวเองที่มีต่อครอบครัวและความสัมพันธ์ เช่น ความเครียดจากการทำงาน หรือภาวะทางสังคม ความคาดหวังต่าง ๆ
มุมมอง: ครอบครัวสำคัญกับคุณแค่ไหน
ความหมายของคำว่าครอบครัวในมุมมองของผู้เขียน คือ ครอบครัวเปรียบเสมือนต้นไม้ใหญ่ที่ให้ร่มเงาจากกิ่ง ก้าน ใบที่แตกขยายในวันท่ีเหนื่อยล้า, เป็นที่พึ่งและพักพึงจากก้านและลำต้นในวันที่ต้องการพลังใจ และอากาศบริสุทธิ์จากการสังเคราะห์แสงที่หล่อเลี้ยงชีวิตและจิตใจ ดังนั้นครอบครัวจึงเปรียบเสมือนต้นไม้ใหญ่ที่เป็นทรัพยากรจากธรรมชาติ ที่สร้างประโยชน์มากมายมหาศาลให้แก่มนุษย์ทุกคนไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม ซึ่งนอกจากจะให้ความร่มเย็น สร้างสมดุลย์ให้กับกายและใจ เป็นที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหารแล้ว ยังช่วยด้านการบำบัดและซักฟอกจิตใจ และสร้างคุณค่าทางจิตวิญญาณแก่ตัวของผู้เขียนได้เป็นอย่างดีตลอดมา
คุณมีคนที่คุณให้ความสำคัญอยู่หรือเปล่า
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าในชีวิตของผู้เขียน มีบุคคลในครอบครัวอยู่หลายคนที่มีอิทธิพลต่อความเชื่อ ค่านิยม และชีวิตจิตใจ เริ่มจากคุณพ่อคุณแม่ เป็นบุคคลแรกๆที่ทำให้ผู้เขียนได้รู้สึกถึงความรัก ความห่วงใย และเวลาเดียวกันก็ทำให้ตัวผู้เขียนรู้สึกยำเกรงได้ในวันที่เราทำสิ่งที่ผิด นอกจากคุณพ่อแม่แล้ว อาม่าและคุณตาคุณยายที่เป็นอีก 1 ผู้เลี้ยงดู ก็ได้มอบความรู้สึกนึกคิด ความใส่ใจและวินัยให้กับผู้เขียน หรือแม้กระทั่งลุง ป้า น้า อา ที่ตัวผู้เขียนเองก็ได้ซึมซับจากบางคำพูด กระบวนการคิดและการให้ทาน ซึ่งบางนิสัยอย่างการเป็นผู้ให้และการทำทานก็ยังติดตัวผู้เขียนมาจนถึงปัจจุบัน ดังนั้นตัวผู้เขียนจึงให้ความสำคัญกับครอบครัวและครูบาอาจารย์อยู่เสมอ เพราะทุกๆท่านที่กล่าวมานี้ล้วนแล้วแต่มีอิทธิพลหล่อหลอมตัวตนของผู้เขียนอย่างที่เป็นอยู่ ณ ปัจจุบัน
แล้วคุณผู้อ่านละ มีใครที่เป็นคนที่คุณรักและให้ความสำคัญอยู่บ้าง แล้วตัวเราให้ความสำคัญกับสิ่งเหล่านี้อย่างไร? อยากให้ทุกท่านได้ลองพิจารณากันดูนะครับ เพราะในชีวิตของคนเรามีเพียงแค่ไม่กี่บุคคลที่สามารถมอบความรัก ความเสียสละและความห่วงใยโดยไม่หวังผลสิ่งใด ซึ่งสิ่งนั้น เรียกว่า ครอบครัว
5 วิธีการสังเกตตัวเองว่ามีปัญหาสุขภาพจิตหรือไม่?
เริ่มต้นเราสามารถสังเกตได้จากพฤติกรรมของเราว่าเปลี่ยนไปจากที่เคยเป็นมาอย่างไร ด้วยตัวอย่างของพฤติกรรม 5 ข้อที่สามารถสังเกตุได้ง่ายๆ มีดังต่อไปนี้
1. เรากินอิ่ม นอนหลับเป็นปกติดีไหม
- วิธีการวัดง่ายๆสำหรับการกิน คือ เวลากินเรามีความสุขและเอนจอยกับการกินไหม หากเรารู้สึกมีความสุขกับการกินในอารมณ์ที่พอดี ไม่ได้มีความสุขมากเกินไปหรือน้อยไป หรือบางครั้งอาจจะรู้สึกเฉยๆในบางครั้ง ซึ่งก็ถือว่าเป็นปกติของคนเรา ดังนั้นเราสามารถประเมินตัวเองได้ในเบี้ยงต้น
- ส่วนการนอน เราสามารถสังเกตตัวเองง่ายๆจากการนอนหลับว่าตัวเรานอนหลับเป็นปกติไหม ช่วงระยะเวลาที่นอนเป็นอย่างไร นอนสั้น นอนยาว หรือ มักจะหลับๆตื่นๆเพราะฝันหรือวิตกกังวลบางสิ่งบางอย่างอยู่เสมอ ตรงนี้เราสามารถสังเกตตัวเองได้ในเบี้ยงต้น หากท่านรู้สึกว่านอนไม่อื่ม หรือ รู้สึกพักผ่อนไม่เพียงพอตรงนี้ก็สามารถไปปรึกษากับแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านการนอน หรือแม้กระทั้งลองนำวิธีจากออนไลน์ไปทดลองปรับใช้ในขั้นต้นก่อนก็ได้เช่นกัน
2. ความคิดด้านลบต่อตัวเอง
ความคิดในด้านลบ สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น เป็นพฤติกรรมที่ซึมซับและเลียนแบบบุคคลรอบข้าง เช่น เคยเห็นตัวอย่างจากสมาชิกในครอบครัว หรือ เลียนแบบจากสื่อที่เห็น/ผู้ที่มีอิทธิพลในสังคม อย่าง ดารา นักร้อง นักแสดง หรือแม้แต่ความไม่มั่นใจในตัวเองและปมด้อยที่เราสร้างขึ้นในใจ ก็ล้วนแต่เป็นปัจจัยที่ทำให้ความคิดในด้านลบเกิดขึ้นมาได้ทั้งนั้น ส่วนวิธีสังเกตก็สามารถสังเกตจากอารมณ์ความรู้สึกที่เข้ามากระทบกับใจเราในแต่ละเหตุการณ์นั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ที่ดีหรือไม่ก็ถาม ก็ให้ถามกับตัวเองว่าเรารู้สึกอย่างไร แล้วทำไมเราถึงมีความรู้สึกอย่างนั้น พยายามตั้งคำถามและหาที่มาของความรู้สึกนั้น แล้วเราจะเข้าใจอารมณ์และความรู้สึกของตัวเองมากขึ้นว่าเพราะอะไรทำไมเราถึงมีความรู้สึกแบบนี้เกิดขึ้น
3. มีความวิตกกังวลและหวาดระแวงอยู่บ่อยครั้ง
วิธีการสังเกตง่ายๆ คือ มักจะมีความคิดกังวลต่อเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอยู่บ่อยครั้ง โดยส่วนใหญ่จะเป็นความคิดในด้านลบ ยกตัวอย่าง เช่น ทุกครั้งก่อนการประเมิน individual performance ประจำปี เรามักจะคิดไปล่วงหน้าว่าหัวหน้าต้องประเมินเราแย่ๆแน่เลย ทั้งที่คนส่วนใหญ่บอกว่าเราทำได้ดีแล้ว แต่เราก็มีความรู้สึกว่าทำเท่าไรก้ไม่ดีพอ และไม่เคยพึงพอใจกับตัวเองสักที ซึ่งหากเรามีความรู้สึกเหล่านี้เกิดขึ้นถี่หรือบ่อยครั้งนานวันเข้า ความรู้สึกนี้อาจจะกลืนกินและทำให้เกิดภาวะความเครียดหรือซึมเศร้าตามมาในระยะยาวได้
4. ไม่มีสมาธิ ใจลอย ชอบอยู่ในโลกของจินตนาการมากกว่าปัจจุบัน
วิธีการสังเกตง่ายๆ คือ มักจะเหม่อหรือใจลอยไปคิดเรื่องอื่น ถึงแม้จะเป็นช่วงเวลางานหรือเรื่องสำคัญ ใจก็จะเผลอหลุดไปคิดเรื่องอื่น โดยที่ไม่สามารถรักษาใจให้มีสติอยุ่กับสิ่งที่ทำอยู่ได้ ดังนั้นหากมีสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นกับตัวเราอยู่บ่อยครั้ง ก็ลองสังเกตและถามตัวเองว่าทำไมเราถึงมีความคิดหรือจินตนาการแบบนั้น? อะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้เราอยากจะคิดหรือจินตนาการสิ่งนั้น? มีสิ่งไหนที่ยังเป็นอุปสรรคไม่ให้เรามีสติอยู่กับปัจจุบันอยู่บ้าง? ก็ให้เรา list และจดลงสมุดหรือหนังสือเพื่อสร้างความตระหนักรู้และเข้าใจแก่ตัวเองให้มากยิ่งขึ้น
5. ชอบแยกตัวออกจากสังคมและเก็บตัวเองมากกว่าปกติ
หากตัวเราเริ่มมีอาการกลัว ไม่อยากคลุกคลีกับผู้คน หรือ มักจะปิดกั้นตัวเองอยู่แต่ในห้องหรือในบ้าน หากเรามีอาการเหล่านี้เกิดขึ้นเป็นระยะเวลานานๆ อย่างแรกเลยก็ให้ขอบคุณตัวเองก่อนที่ทำเราปลอดภัยจากสิ่งที่อยู่รอบตัวเราหรือสังคมภายนอก ผู้เขียนคิดว่าไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่เราอยากที่จะใช้เวลาอยู่กับตัวเองเพื่อคิดและไตร่ตรองกับสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิต แต่อย่างไรก็ดี การอยู่กับตัวเองมากเกินไปบางครั้งก็เป็นเหมือนดาบสองคม หากความคิดดีก็ดีไป หากความคิดไม่ดี ความคิดนั้นก็อาจที่จะบั่นทอนเราได้เช่นกัน ดังนั้นการ Balance ทุกอย่างให้เป็นกลาง ไม่มากไปไม่น้อยไปจึงเป็นสิ่งเราสามารถฝึกและสร้างให้เป็นนิสัยได้
อย่างไรก็ดีนอกจาก 5 ข้อ ที่กล่าวมาข้างต้น ก็ยังมีพฤติกรรมอื่นๆที่เราสามารถสังเกตตัวเองได้อีก อย่างเช่น พฤติกรรมที่ฉุนเฉียว อารมณ์แปรปรวน, ไม่มีความสุขกับชีวิตเหมือนอย่างที่เคย, มีความรู้สึกใช้ชีวิตในแต่ละวันเป็นเรื่องที่ยาก, เริ่มไม่ดูแลตัวเองและรักษาความสะอาดอย่างเหมาะสม หรือ แม้กระทั้ง Performance ในการเรียนหรือทำงานที่ drop ลงไป
อาการทั้งหมดที่ว่ามานี้ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยและเป็นแนวทางขั้นต้นที่จะทำให้เราสามารถสังเกตพฤติกรรมตัวเองได้ง่ายๆ เพื่อสร้างการตระหนักรู้ โดยเราไม่มีความจำเป็นจะต้องไปกดดันว่าทำไมฉันถึงมีความคิดในด้านลบแบบนี้หรือแบบนั้น ขอแค่ให้เชื่อมั่นอย่างนึงว่าเราสามารถมีความสุขอยู่กับสิ่งที่เป็นหรือในแบบฉบับของเราได้ แค่เราเริ่มต้นที่จะยอมรับตัวตนที่เราเป็นและความรู้สึกของตัวเองที่เกิดขึ้นอย่างจริงใจเสียก่อน จากนั้นค่อยๆพยายามทำความเข้าใจอารมณ์และความรู้สึกของตัวเองด้วยการตั้งคำถามถึงที่มาของอารมณ์นั้นว่ามันมาจากไหน? และทำให้เราให้รู้สึกอย่างไร? หากเรายังไม่สามารถจัดการกับใจของตัวเองได้อย่างเหมาะสม ก็อาจจะหาตัวช่วยอย่างผู้เชี่ยวชาญ เช่น นักจิตวิทยาการปรึกษา หรือ ผู้รับฟัง(Empathetic listener) หรือใครก็ได้ที่เราไว้ใจเพื่อระบายเรื่องราวก็ได้เช่นกัน
อ่าน 4 วิธีสังเกตสุขภาพใจคนใกล้ตัว (คลิกอ่านต่อ)
หากใครก็ตามที่ชอบบทความนี้ของใจ-ฟู ฝากกด Like หรือ กดติดตามเพื่อไม่ให้พลาดข่าวสารและบทความดีๆในตอนต่อไปกันนะครับ
- Facebook (Jaifull): https://www.facebook.com/jaifully
- LinkedIn (NEXEP Health): https://www.linkedin.com/company/nexep-health-solutions/
ขอบคุณครับ