เพิ่มความเข้มแข็งทางจิตใจให้กลุ่มพนักงานรุ่นใหม่ ด้วย Self-empathy

การพัฒนาสุขภาพจิตในกลุ่มพนักงานรุ่นใหม่ คือการสร้างความเข้มแข็งทางจิตใจให้เพิ่มขึ้น ด้วยการพัฒนาความเข้าอกเข้าใจตนเอง (self-empathy)

ลดปัญหาความเครียด ซึมเศร้า และหมดไฟในการทำงาน

สร้างเกราะคุ้มกันใจด้วย self-empathy
ปัจจัยที่อาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตในกลุ่มคนวัยทำงานรุ่นใหม่ อายุ 15-34 ปี อาจมีหลากหลายสาเหตุ แต่ส่วนหนึ่งที่มีการวิเคราะห์กันคือ “โรคเสพติดความสำเร็จ” การที่เห็นแต่คนที่มีชีวิตสมบูรณ์แบบเต็มไปหมดบนโซเชียลมีเดีย จนนำมาเปรียบเทียบ สร้างความกดดันและความเครียดให้กับตัวเอง เกิดเป็นปัญหาสุขภาพจิตและกลายเป็นภาวะซึมเศร้าจนอาจรุนแรงถึงขั้นคิดทำร้ายตัวเองได้ (source: Thaihealthreport)

ความรุนแรงของปัญหาสุขภาพจิตในพนักงานรุ่นใหม่

จากการจัดอันดับของบริษัท Kisi ในปี 2565 พบว่า กรุงเทพฯจัดอยู่ในอันดับที่ 5 จาก 100 เมืองของประเทศทั่วโลก ที่มีผู้คนทำงานหนักเกินไป (Most Overworked Cities) และมีพนักงานประจำกว่าร้อยละ 15.1 ทำงานล่วงเวลามากกว่า 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ การทำงานหนัก ส่งผลให้เกิดปัญหาความเครียด ซึมเศร้า และหมดไฟในการทำงานได้ง่าย นอกจากนี้ คนวัยทำงานรุ่นใหม่ยังประสบกับการแข่งขันด้านการทำงานที่สูงขึ้น อีกทั้ง มีการพบร่องรอยความรุนแรง วิถีชีวิตอันเร่งรีบ ความเหลื่อมล้ำ ผิดหวังซ้ำซาก ปัญหาสังคม แอลกอฮอล์และยาเสพติด

ผลการประเมินสุขภาพจิตตนเองของเยาวชนอายุ 15-25 ปีระหว่างปี 2565 2567

ปัญหาสุขภาพจิตของกลุ่มอายุ 15-22 ปี เกิดจากด้านการเรียนและความคาดหวังถึงงานในอนาคตมากที่สุดที่ 38.4% และ 60.9% ตามลำดับ ขณะที่กลุ่มอายุ 23 – 25 ปี พบว่า ด้านการเงินของครอบครัว เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความเครียดมากที่สุดที่ 67.1% รองลงมา คือ การเรียนและการทำงาน ร้อยละ 66.1 ซึ่งแตกต่างกันไม่มากนัก และหากดูสถิติกลุ่มที่เสี่ยงภาวะซึมเศร้า กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงสุดในปี 2567 คือช่วงอายุ ต่ำกว่า 20 ปี และ ช่วงอายุ 20-29 ปี 24.4% และ 20.7% ตามลำดับ

ที่น่าสนใจคือ กลุ่มอายุที่มีการฆ่าตัวตายสูงสุด คือ กลุ่มอายุ 15 – 34 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มวัยเรียนและวัยทำงานตอนต้น โดยมีปัจจัยหลัก คือ ปัญหาเรื่องความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิดหรือคนในครอบครัว ในสถานที่ทำงาน หรือในโรงเรียน รวมทั้งภาวะป่วยกายหรือใจเรื้อรัง การใช้แอลกอฮอล์และสารเสพติด และภาวะเครียดจากผลกระทบทางเศรษฐกิจ และจากรายงานการฆ่าตัวตายสำเร็จจากใบมรณะบัตรตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555-2564 ช่วงวัยทำงาน ซึ่งมีอายุ 25-44 ปี เป็นช่วงวัยที่อัตราการฆ่าตัวตายถึงร้อยละ 42.9

ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของปัญหาสุขภาพจิตในกลุ่มคนวัยทำงานรุ่นใหม่ (นอกเหนือจากความเครียดในที่ทำงาน)

สำหรับปัจจัยที่อาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตในกลุ่มอายุ 15-34 ปี อาจมีหลากหลายสาเหตุ แต่ส่วนหนึ่งที่มีการวิเคราะห์กันคือ “โรคเสพติดความสำเร็จ” ซึ่งจากสถิติการใช้ social media ในประเทศไทย รายงานโดย Digital Stat 2022 ระบุว่าเป็นช่วงวัยที่ใช้ social media มากที่สุด รวมกันถึงร้อยละ 71.7 เลยทีเดียว ซึ่งหนึ่งในคอนเทนต์ที่คนไทยนิยมทำและดูกันอย่างมากคือ “คอนเทนต์ที่แสดงถึงความสำเร็จ” การที่เห็นแต่คนที่มีชีวิตสมบูรณ์แบบเต็มไปหมด จนนำมาเปรียบเทียบ สร้างความกดดันและความเครียดให้กับตัวเอง เกิดเป็นปัญหาสุขภาพจิตและกลายเป็นสภาวะซึมเศร้าจนอาจรุนแรงถึงขั้นคิดทำร้ายตัวเองได้ (source: https://www.thaihealthreport.com/th/articles_detail.php?id=204)

นอกจากนี้ หากมองกันในเรื่องของสภาพสังคม ศาสนา และวัฒนธรรมแล้ว อาจพบว่าปัญหาของคนรุ่นใหม่คือ ความสามารถในการรับมือกับอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดของตนเอง และการรับมือกับสถานการณ์เชิงลบที่เกิดขึ้นในชีวิต ในขณะที่ในกลุ่มวัยผู้ใหญ่ ที่ได้ผ่านประสบการณ์เหล่านั้นมามากพอสมควร มีความเข้าใจสัจธรรมชีวิตด้านต่าง ๆ มากขึ้น ก็ทำให้รับมือได้ดีขึ้น ทำให้ปัญหาสุขภาพจิตน้อยลง แม้สิ่งนี้จะเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นในทุกยุคทุกสมัย แต่ในโลกสมัยใหม่นี้ สิ่งยึดเหนี่ยวในจิตใจของผู้คนลดน้อยลงเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นการนับถือศาสนาที่ช่วยขัดเกลาจิตใจลดลง ความสัมพันธ์ของผู้คนที่ห่างเหินมากขึ้น หรือสถาบันครอบครัวที่ห่างเหิน ซับซ้อนและขนาดเล็กลง และอื่น ๆ อีกมากมาย ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ก็ส่งผลต่อความเข้มแข็งของจิตใจของคนรุ่นใหม่ที่ลดลงตามไปด้วยอย่างเห็นได้ชัด

ปัญหาสุขภาพจิตที่เกิดขึ้นกับกลุ่มคนทำงานรุ่นใหม่

ผลกระทบต่อองค์กร จากปัญหาสุขภาพจิตในกลุ่มคนวัยทำงานรุ่นใหม่ที่รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ

ปัญหาสุขภาพจิตของคนวัยทำงาน ส่งผลเกิดมูลค่าความสูญเสียผลผลิต (Productivity) ปีละ 1 พันล้านเหรีญสหรัฐ หรือหากคิดเป็นการสูญเสีย “วันทำงาน” มีการคาดการณ์ว่า เกิดการสูญเสียรวมกันทั่วโลกกว่า 12 พันล้านวัน*

แม้หลายบริษัทจะทราบว่า Work Efficiency (ประสิทธิภาพการทำงาน) Performance (ผลงาน) และ Absenteeism (การขาดลามาสาย) ของพนักงาน มีผลจากแรงจูงใจในการทำงาน ความเครียด ความเหนื่อยล้า ปัญหาด้านสุขภาพ ปัญหาส่วนตัว และเรื่องอื่น ๆ แต่วิธีการที่จะช่วยจัดการกับเรื่องเหล่านี้ก็ยังคงเป็นสิ่งที่ท้าทายของหลายองค์กร เนื่องจากปัญหาหลายด้านเป็นปัญหาที่เกิดจากเรื่องที่เกี่ยวข้องกับจิตใจ และปัญหาด้านสุขภาพจิตของคนทำงาน ดังนั้น การมีเบี้ยขยัน การให้รางวัล หรือการทำโทษด้วยวิธีการต่าง ๆ อาจไม่เพียงพอที่จะพัฒนา Work Efficiency (ประสิทธิภาพการทำงาน) Performance (ผลงาน) และ Absenteeism (การขาดลามาสาย) ได้อย่างยั่งยืน…อ่านบทความใจฟูเพิ่มเติม เกี่ยวกับ “เข้าใจภาพรวมของปัญหาสุขภาพจิตของพนักงานที่ส่งผลต่อการทำงาน”


ประโยชน์ของการสร้าง self-empathy

พื้นฐานการสร้างความเข้มแข็งให้จิตใจ คือ การเข้าอกเข้าใจตนเอง (self-empathy)

1) การเข้าอกเข้าใจตนเอง (self-empathy) คือ

การรับรู้และยอมรับในความรู้สึก ความนึกคิด และแรงกระตุ้นให้เกิดการกระทำของตนเอง โดยเข้าใจ “อย่างไม่ตัดสิน” ไม่ว่าจะผิดหรือถูก ดีหรือไม่ดี รับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง

ซึ่งมีบางมุมที่อาจจะมีมุมมองการเข้าอกเข้าใจตนเองในแง่ลบอยู่ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับว่าเรานำความเข้าอกเข้าใจตนเอง (self-empathy) นั้นไปใช้อย่างไร เฉกเช่นกับเครื่องมือต่าง ๆ ในโลกที่อยู่ที่เจตนาของผู้นำไปใช้ หากใช้ในทางสร้างสรรค์ก็เป็นประโยชน์ แต่หากใช้ในเพื่อการหาประโยชน์หรือมีเจตนาด้านลบแล้วก็ย่อมส่งผลเสียตามมาอย่างแน่นอน

“Self-empathy means that an aspect of yourself observes, in an empathic manner, the aspect of yourself that experiences. This is done with an attitude of suspended judgment and openness towards yourself”.Jordan, 1994

“We’re not talking about feeling sorry for yourself or bringing love to your own experiences. Self-empathy is not the same as self-compassion. Self-compassion involves treating yourself with the same kindness, concern, and support you’d show to a good friend”. Neff & Dahm, 2015

“ความเข้าอกเข้าใจตนเอง (self-empathy) หมายถึง มุมมองของการสังเกตด้วยตัวเองอย่างเข้าอกเข้าใจ มุมมองที่ตนเองได้รับประสบการณ์ โดยไม่มีทัศคติที่ไปตัดสินสิ่งเหล่านั้น และการเปิดกว้างยอมรับตนเอง”
Jordan, 1994
“เราไม่ได้พูดถึงรู้สึกเสียใจกับตัวเองหรือการให้ความรักตัวเองอะไรแบบนั้น ความเข้าอกเข้าใจตัวเองไม่เหมือนกับ “ความเห็นอกเห็นใจตนเอง” (Self-compassion) ซึ่งเป็นการปฏิบัติกับตัวเองด้วยความใจดี ปรารถนาดี การสนับสนุนตนเองเฉกเช่นที่เราปฏิบัติต่อเพื่อนที่ดีของเรา”
Neff & Dahm, 2015

2) การนำแนวคิด การเข้าอกเข้าใจตนเอง (self-empathy) ไปใช้

ในการกระบวนการเพื่อนำไปใช้พัฒนาตนเองเชิงบวก และการพัฒนาชีวิตและจิตใจที่สุขสงบมากยิ่งขึ้น เราสามารถนำพื้นฐานของความเข้าอกเข้าใจตนเอง “อย่างไม่ตัดสิน” นี้มาสร้างให้เกิดอารมณ์และการแก้ปัญหาเชิงบวกได้ดียิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ต้องไม่ลืมที่จะมี “การตระหนักรู้และไม่เข้าข้างตนเอง” ในสถานการณ์ที่ทำให้ตนเองและผู้อื่นเดือดเนื้อร้อนใจ

เช่น เมื่อเกิดความผิดพลาดล้มเหลวในการงาน สิ่งที่คุณพึงกระทำคือ เพียงรับรู้และยอมรับอารมณ์ความรู้สึกเจ็บปวด ผิดหวัง เสียใจ โกรธ ที่เกิดขึ้นในทุก ๆ ครั้ง และเข้าใจความรู้สึกเหล่านั้นว่าเกิดขึ้นจากอะไรในระดับที่ลึกขึ้น แล้วลองมองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในฐานะบุคคลอื่นแบบ “สังเกตการณ์” (นักบำบัดบางท่าน อาจเปรียบเทียบว่า เหมือนเราถอดวิญญาณออกจากร่าง แล้วมองกลับลงมาที่ร่างของตัวเองและสิ่งรอบ ๆ ตัว ว่าทำไมคนนี้จึงรู้สึกแบบนี้ กระทำแบบนี้) ซึ่งอาจพบว่าความรู้สึกเจ็บปวด ผิดหวัง เสียใจ โกรธ เกิดจากการรู้สึกเสียหน้า เกิดจากความคิดว่าครอบครัว/องค์กรจะตำหนิและผิดหวังในคน ๆ นั้น กลัวถูกสังคมตราหน้า หรือรู้สึกตำหนิด้อยค่าตัวเองอยู่

เมื่อเราเข้าใจความรู้สึกนึกคิด และที่มาความรู้สึกนึกคิดนั้นแล้ว ลองค่อย ๆ มองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า “สถานการณ์ที่เกิดขึ้น” กับการงานนั้น เกิดจากอะไร หากเราพบว่า ที่มาจากความผิดพลาดเกิดจากการกระทำตนเองแล้ว ให้รับรู้ความผิดพลาดและยอมรับสิ่งนั้น เพื่อนำไปสู่การแก้ไขสถานการณ์ และป้องกันความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในอนาคต

ในทางตรงกันข้าม ในผู้ที่ขาดความเข้าอกเข้าใจตนเอง เมื่อเกิดความรู้สึกเจ็บปวด ผิดหวัง เสียใจ โกรธ มักหาวิธีระบายออก กลบความรู้สึก หรือเลี่ยงความรู้สึก โดยการหาวิธีการ “ระบาย หรือผ่อนคลาย” เช่น การใช้ความรุนแรง ทะเลาะ หรือโทษคนอื่น การออกไปเที่ยวสถานบันเทิง หาของอร่อย สังสรรค์ ดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ ใช้ยาเสพติด และดูภาพยนตร์-ซีรีส์ต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งแน่นอนว่าสามารถกระทำได้ แต่วิธีการเหล่านั้น เป็นการจัดการหลีกหนีแบบชั่วคราว สุดท้ายเราก็จะต้องเผชิญหน้ากับความรู้สึกเจ็บปวด ผิดหวัง เสียใจ โกรธ อยู่เหมือนเดิม และ ความรู้สึกเหล่านั้นไม่ได้รับการจัดการแล้ว ปัญหาก็จะไม่ได้ถูกคลี่คลาย ไม่ได้ถูกแก้ปัญหา สุดท้ายความรู้สึกเชิงลบ ประสบการณ์เชิงลบ ก็จะสะสมในคน ๆ นั้น และกลายเป็นเรื่องเรื้อรัง แก้ไขได้ยาก กลายเป็นปัญหาสุขภาพจิตในระยะยาวตามมาได้

3) สรุปกระบวนการพัฒนาให้เกิดการเข้าอกเข้าใจตนเอง (Self-empathy)

การพัฒนาให้เกิดการเข้าอกเข้าใจ ​(empathy) นั้นพูดง่ายแต่ทำยาก ผู้ที่เรียนด้านจิตวิทยาต้องใช้การฝึกฝนเป็นเวลานานกว่าที่จะพัฒนาความสามารถในการเข้าอกเข้าใจ (empathy) ขึ้นมาได้ มีผู้เขียนบทความที่เป็นนักจิตวิทยาบางท่านอย่าง Barrett-Lennard, 1997 ได้กล่าวไว้ว่า “The first step towards empathizing with someone else is to empathize with yourself” หรือ “ก้าวแรกสู่การมีความเข้าอกเข้าใจในผู้อื่นคือการเริ่มเข้าอกเข้าใจตัวเอง” โดยอาจะพยายามฝึกฝนด้วยตนเอง หรือการเข้าร่วม workshop เพื่อฝึกฝนกับนักจิตวิทยา โดยนักจิตวิทยาจะให้ความช่วยเหลือและให้คำแนะนำในกระบวนการพัฒนาได้ถูกต้องมากขึ้น

วิธีสร้าง self-empathy
วิธีการพัฒนาให้เกิด self-empathy 
  1. รับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นภายใน: รับรู้ในความรู้สึก ความนึกคิด และแรงกระตุ้นให้เกิดการกระทำของตนเอง
  2. ยอมรับแบบ “ไม่ตัดสิน”: ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น โดย​ ”ไม่ตัดสิน” ไม่ว่าจะผิดหรือถูก ดีหรือไม่ดี
  3. สังเกตการณ์ตัวเอง: “ฝึกสังเกตการณ์ตัวเอง” ว่า ทำไมคนนี้จึงรู้สึกแบบนี้ กระทำแบบนี้ และเกิดอะไรขึ้นรอบตัวเขา
  4. ทบทวน ตระหนักรู้ แต่ “ไม่เข้าข้าง”: หากเราพบว่า ที่มาจากความผิดพลาดเกิดจากการกระทำตนเองแล้ว ให้รับรู้ความผิดพลาดและยอมรับสิ่งนั้น เพื่อนำไปสู่การแก้ไขสถานการณ์ และป้องกันความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในอนาคต ต้องไม่ลืมที่จะ “การตระหนักรู้และไม่เข้าข้างตนเอง” ในสถานการณ์ที่ทำให้ตนเองและผู้อื่นเดือดเนื้อร้อนใจ
สิ่งที่จะเกิดขึ้นเมื่อมี Self-empathy คือ
  1. เมื่อการฝึก Self-empathy ให้มีการรับรู้ ความรู้สึก ความนึกคิด และแรงกระตุ้นให้เกิดการกระทำของตนเองอยู่เสมอ ทำให้เกิดเราเกิดสติ มีความตระหนักรู้ (Self-awareness) มีความเคารพตัวเอง (Self-esteem) เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริงมากขึ้น
  2. เมื่อมีสติ จิตใจเราก็จะเข้มแข็ง (Resilience*) พร้อมรับมือกับเหตุการณ์ได้ทุกรูปแบบไม่ว่าจะดีหรือร้าย
  3. เมื่อจิตใจเราเข้มแข็ง เราก็พร้อมที่จะมีความเข้าอกเข้าใจให้กับผู้อื่น (Empathy) พร้อมช่วยเหลือรับฟังผู้อื่นได้มากขึ้น รวมทั้ง เพิ่มประสิทธิภาพในการสื่อสาร การใช้ชีวิต และการทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ดีขึ้น

*Resilience ความเข้มแข็งทางจิตใจ ความสามารถในการฟื้นตัว พลังสุขภาพจิต หรือ ความสามารถของบุคคลในการปรับตัวและฟื้นตัวภายหลังที่พบกับเหตุการณ์วิกฤต หรือสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดความยากลำบาก

ติดตามใจฟู



บทความอื่น ๆ

References: