#1 องค์กรจะป้องกันไม่ให้พนักงานหมดไฟได้อย่างไร? | How organization prevent burnout
ตอนที่ 1: รู้จักความเครียด ก่อนความเครียดจัดการเรา
โดย นักจิตวิทยาการปรึกษา คุณเจ เจษฎา กลิ่นพูล | Counseling Psychologist @ ใจฟูบริการดูแลสุขภาพใจพนักงานสำหรับองค์กร
ความเครียดก็เหมือนกับน้ำที่ถูกเติมลงไปในแก้วซึ่งเป็นตัวแทนของจิตใจของเราจนเต็ม
ลองจินตนาการว่าจิตใจของคุณเป็นเหมือนแก้วน้ำใบหนึ่ง และมันค่อยๆ ถูกเติมน้ำลงไปจนเต็มเกือบล้นเอ่อ แต่นิ้วสะกิดนิดเดียวก็อาจทำให้น้ำในแก้วหกล้นออกมาได้ สิ่งที่คุณต้องตัดสินใจในเวลานั้น อาจจะเป็นการยกซดน้ำในแก้วให้ลดลงในระดับที่พอเหมาะ ซึ่งอาจจะสำลักได้หากคุณรีบร้อนกระดกลงคอด้วยอึกใหญ่ขนาดนั้น
อีกวิธีการหนึ่งอาจเป็นการเลือกเทน้ำในแก้วนั้นทิ้งไป แต่นั่นก็อาจหมายถึงคุณต้องสูญเสียบางสิ่งบางอย่างที่สั่งสมมาไปปอย่างรวดเร็วโดยไม่ทันได้สังเกตดีๆ ว่าอาจมีแหวนเพชรอยู่ในนั้นด้วย
สารเคมี หรือฮอร์โมนแห่งความเครียด
ความเครียด เป็นปฏิกิริยาหนึ่งของร่างกายที่เกิดขึ้นเมื่อเราเจอสิ่งกระตุ้นให้สมองหลั่งสารเคมีแห่งความเครียด ชื่อ “คอร์ติซอล” (Cortisol)
จริงๆ ต้องเรียกว่ามันเป็นสารที่กระตุ้นให้ตื่นตัวซะมากกว่า เหมือนกับน้ำที่ดื่มแล้วกระปรี้กระเปร่าแต่มากเกินไปก็ทำให้สำลัก
ความเครียดทำให้ร่างกายเราเข้าสู่ภาวะของการ สู้หรือถอยหนี (Fight or Flight respones) แต่บ้างก็ว่ามีภาวะที่เราตัวแข็งทื่อคล้ายอาการตกใจที่เรียกว่า freeze response ด้วย
อ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสารแห่งความเครียด หรือ ฮอร์โมน “คอร์ติดซอล” (Cortisol)
การยกซดน้ำในแก้วแบบทันที ก็เทียบได้กับการเผชิญหน้าสู้กับความเครียดที่เข้ามา อาการสำลักก็หมายถึงการเจ็บตัวเล็กน้อยจากการต่อสู้นั้น
การเทน้ำในแก้วทิ้งลงไป ก็เทียบได้กับการถอยหนีจากความเครียด แต่เมื่อรีบร้อนแบบไม่ลืมหูลืมตาก็อาจลืมสิ่งสำคัญในชีวิตอย่างความสัมพันธ์ที่มีอยู่ แหวนเพชรนั้นอาจเป็นตัวแทนของความรัก ความผูกพัน หรือมิตรภาพก็ได้
บางคนที่เห็นน้ำเอ่อจนปริ่มขอบแก้วก็อาจนิ่งเป็นอัมพาต เป็นภาวะที่เราไม่กล้าขยับตัวจากความเครียดที่ประดังเข้ามาในทันควัน ก่อนที่ในภายหลังจากนั้น น้ำที่ถูกเติมลงไปเรื่อยๆ ก็อาจล้นออกจนคลุมแก้วน้ำ หรือไม่ แก้วนั้นก็แตกสลายเพราะทนปริมาณน้ำที่มากเกินจะบีบอัดลงในแก้วไม่ไหวอีกต่อไป
ความเครียดมีประโยชน์
ผมอยากเล่าให้เห็นภาพของความเครียดที่กระทบกับจิตใจของเราก่อน เพื่อให้เห็นว่าความเครียดอาจเป็นสิ่งที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งยังมีประโยชน์ให้เราตื่นตัวลุกขึ้นมาทำสิ่งต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ แต่เมื่อไรก็ตามที่มัน “มากเกินไป” ในตอนนั้นเองที่อาจทำให้เกิดปัญหา
กำลังเครียดอยู่หรือเปล่า?
ความเครียดเป็นปฏิกิริยาตอบสนองในร่างกายของเราเมื่อเผชิญกับสิ่งกระตุ้นอย่างที่ผมกล่าวไปข้างต้น สิ่งกระตุ้นความเครียดนี้อาจเป็นอะไรก็ได้ที่ทำให้เรารู้สึกกดดัน อึดอัด กังวล คิดมาก หงุดงหงิด เสียใจ ฯลฯ ซึ่งเราสามารถสังเกตได้ว่าตัวเองกำลังเครียดหากกำลังมีอารมณ์เหล่านี้
แต่บางครั้งเราก็ไม่ทันได้รู้ตัวว่าเรากำลัง “รู้สักยังไง” ความเครียดจึงอาจแสดงออกมาผ่านพฤติกรรมสู้ ถอยหนี หรือ แข็งทื่อ อย่างที่ผมพูดถึงไปแล้วเช่นกัน แต่การแสดงของพฤติกรรมเหล่านี้ก็อาจไม่ได้ตรงตัวขนาดนั้น แต่เป็นสิ่งต่างๆ ที่เราทำเพื่อลดระดับความเครียดโดยไม่รู้ตัว เช่น มีพฤติกรรมก้าวร้าว คิดมาก พูดเยอะ อยู่ไม่นิ่ง เดินหนี หลีกหนีผู้คน สูบบุหรี่ กินเหล้า ใช้สารเสพติด กินเยอะขึ้น ฯลฯ และบางครั้งก็แสดงออกมาเป็นอาการทางกายอย่างไม่มีที่มาที่ไปได้ด้วย เช่น ไม่อยากอาหาร นอนไม่หลับ นอนเยอะ ปวดหัว ปวดหลัง ปวดคอ ปวดเอว ปวดท้อง เกร็งท้อง เกร็งมือ มือชาเท้าชา หายใจลำบาก แน่นหน้าอก ใจเต็นเร็ว ความดันพุ่งขึ้นสูง ฯลฯ
สัญญาณของความเครียดที่เราสังเกตได้จากพฤติกรรมเหล่านี้อาจเป็นอะไรที่ชัดเจนกว่าอารมณ์ที่เรามักจะละเลยไป หากมองเห็นอาการเหล่านี้แล้ว เราอาจค่อยหันกลับมาถามตัวเองได้ว่า “เรากำลังเครียดเรื่องอะไรรึเปล่า?”
อ่านบทความทั้งหมดของ >>> “องค์กรจะป้องกันไม่ให้พนักงานหมดไฟได้อย่างไร?: แค่จัดการความเครียดได้พนักงานก็ไม่หมดไฟในการทำงาน”