กลยุทธ์การสร้างสังคมการทำงานที่ดีต่อใจ #3 (ต่อ) | Strategies for Psychological Healthy Workplaces #3 (Conitnue)

Intervention - วิธีการที่สามารถช่วยแก้ปัญหาสุขภาพจิตในองค์กรได้ หรือเป็นวิธีการที่เราจะสามารถนำมาประยุกต์ใส่ไปในกลยุทธ์ขององค์กรเราเอง

ตอนที่ 3.2: Intervention (ต่อ)

โดย นักจิตวิทยาการปรึกษา คุณเจ เจษฎา กลิ่นพูล | Counseling Psychologist @ ใจฟูบริการดูแลสุขภาพใจพนักงานสำหรับองค์กร

Intervention for Promoting Workplace Mental Health Issues (ต่อ)

4. การสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีให้กับพนักงาน

เพื่อให้เกิดบรรยากาศที่ผ่อนคลายและให้พนักงานรู้สึกว่าสภาพแวดล้อมโดยรอบของพวกเขาคอยสนับสนุนสุขภาพใจของพวกเขาอยู่ การทำให้บรรยายเหล่านั้นเกิดขึ้นจริงและคงอยู่เสมอ เป็นเรื่องที่สำคัญพอๆ กับการยึดแนวคิดบางอย่างในการทำงานอย่างทั้งสามข้อในก่อนหน้านี้

สำหรับการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีให้กับพนักงาน เราสามารถแบ่งลักษณะของสภาพแวดล้อมได้ 3 รูปแบบย่อยๆ และมีรายละเอียดที่แตกต่างกันแม้จะทำเพื่อให้บรรลุจุดประสงค์เดียวกันคือ การสร้างสังคมการทำงานที่ดีต่อใจ โดยจะประกอบไปด้วย ปัจจัยด้านสถานที่ ปัจจัยด้านโครงสร้างขององค์กร และ ปัจจัยด้านผู้คนในองค์กร

  • ปัจจัยด้านสถานที่

สำหรับปัจจัยด้านสถานที่ หมายถึง สิ่งที่มองเห็นได้อย่างชัดเจน โดยเป็นการสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานให้ดูสบายตาสบายใจ หรือทำให้ดูน่าทำงานมากยิ่งขึ้น แทนที่จะปล่อยให้สภาพแวดลอ้อมการทำงานดูน่าเบื่อและมีแต่ความเหี่ยวเฉาหรือหมดกำลังใจ การตกแต่งสถานที่การทำงานให้ดูน่าตื่นเต้น สบายตา น่าดึงดูด และดูสนุกสนาน ก็อาจเป็นสิ่งที่ทำให้โล่งใจและผ่อนคลายได้มากกว่า

ตัวอย่างของการใช้กลยุทธ์สร้างสภาพแวดล้อมที่ดีในด้านปัจจัยของสถานที่ที่เราสามารถมองเห็นได้มากขึ้นในยุคนี้ คงหนีไม่พ้นการสร้าง “Fun Office” ให้เกิดขึ้นองค์กร โดยตัวอย่างที่เห็นได้บ่อยคือบริษัท Google ที่ใช้วิธีการตกแต่งสถานที่อย่างสวยงาม มีชีวิตชีวา และยกเอาสไลด์เดอร์เครื่องเล่นเด็กขนาดใหญ่มาไว้ในออฟฟิศให้พนักงานลื่นลงมาแทนการใช้บันได

Source: https://www.businessinteriors.co.uk/inspiring-office-design-google-h/

อีกตัวอย่างที่ไม่หวือหวามากจนเกินไป ก็คือการตกแต่งออฟฟิศของบริษัท LINE Company (Thailand) ที่มาด้วยคอนเซ็ปต์ Creative Workplace โดยหยิบเอารายละเอียดของโปรดักส์ของตัวเองมาใช้ในการสร้างสีสันตกแต่งออฟฟิศอย่างสนุกสนาน และมีการนำเอา Sticker Character ต่างๆ ของ LINE มาเป็นส่วนหนึ่งของการตกแต่งในโซนต่างๆ ตั้งแต่ห้องประชุม, โซนต้อนรับ, ไปจนถึงโซนนั่งจิบกาแฟพักผ่อน อีกทั้งยังมีการจัดโซนนั่งเล่น, ห้องเล่นเกม, ห้องยิม, ห้องกีฬา, โรงอาหาร และห้องนวดให้กับพนักงานอีกด้วย

Source: workventure
  • ปัจจัยด้านโครงสร้างขององค์กร

ในปัจจัยด้านโครงสร้างขององค์กรที่เอื้อต่อการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีต่อใจให้กับพนักงานได้ คือการวางแนวทางของระบบระเบียบภายในองค์กรให้ชัดเจนองค์กรนั้นๆ ให้ความสำคัญกับสุขภาพกายและใจของพนักงานจริงๆ หรือไม่ โดยอาจมีการสร้างไกด์ไลน์ที่ชัดเจนว่า องค์กรให้ความสำคัญกับสุขภาพและความปลอดภัยของพนักงานในด้านใดบ้าง

โดยหากในด้านสุขภาพจิตของพนักงาน ก็ควรมีแนวทางที่แน่ชัดว่าจะครอบคลุมเรื่องการช่วยเหลือ การประเมิน การป้องกัน และการฟื้นฟูให้กับพนักงาน หากพนักงานต้องเผชิญกับความเครียด ภาวะหมดไฟ การใช้สารเสพติด และปัญหาด้านสุขภาพจิตอื่นๆ รวมทั้งองค์กรควรต้องให้ความสำคัญกับการตั้งกฎเกณฑ์ที่ป้องกันและมีแนวทางการรับมือการล่วงละเมิดหรือการกลั่นแกล้งกันภายในองค์กรด้วย

การที่องค์กรมีข้อกำหนดในประเด็นเหล่านี้อย่างชัดเจนว่า เรื่องใดบ้างที่องค์กรพร้อมให้ความช่วยเหลือหรือสนับสนุน จะช่วยให้พนักงานรู้สึกปลอดภัยและสะดวกใจมากขึ้นในการพูดคุยถึงปัญหาด้านสุขภาพจิตของตนเองโดยไม่จำเป็นต้องกังวลหรือกลัวว่าจะต้องตกงาน ถูกคุกคาม หรือ ถูกทำให้แปลกแยก

  • ปัจจัยด้านผู้คนในองค์กร

การสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีกับพนักงายนไม่ได้จำกัดอยู่เพียงสิ่งที่มองเห็นได้เท่านั้น แต่ยังต้องถูกปลูกฝังลงในวัฒนธรรมขององค์กรด้วย โดยในการสร้างวัฒนธรรมขององค์กรที่แข็งแรงคือการคำนึงถึงปัจจัยด้านผู้คนที่อยู่รวมกันในองค์กร

โดยหากองค์กรมีโปรแกรมในการช่วยเหลือพนักงานอยู่แล้ว การพูดถึงโปรแกรมเหล่านั้นให้บ่อยขึ้น และลดการตีตราเรื่องสุขภาพจิตในที่ทำงาน แต่ทำให้เป็นเรื่องทั่วๆ ไปที่ใครก็สามารถพูดคุยยกันได้ จึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะการที่ทุกคนในองค์กรสามารถพูดถึงเรื่องสุขภาพจิตได้อย่างปกติและพูดถึงมันได้บ่อยๆ ก็อาจช่วยให้เวลาที่พนักงานมีปัญหาหรือไม่สบายใจเรื่องใด พวกเขาก็จะไม่รู้สึกโดดเดี่ยว แต่สามารถเดินเข้าหาคนอื่นๆ เพื่อขอปรึกษาได้

กิจกรรม Mental Health Talk บมจ. ซิมโฟนี คอมมูนิเคชั่นส์ โดยทีมใจฟู

ขณะเดียวกัน กลยุทธ์ในการสร้างสภาพแวดล้อมที่อิงกับปัจจัยด้านผู้คนแล้ว อาจเลือกใช้วิธีการสร้างทีมหรือสอนหัวหน้าทีม ให้มีความรู้ความเข้าใจเรื่องสุขภาพจิตและมีแนวทางในการช่วยเหลือเบื้องต้นให้กับพนักงานได้ โดยสิ่งที่ควรรู้อาจประกอบไปด้วย การสังเกตสัญญาณและวิธีตอบรับในการพูดคุยประเด็นสุขภาพจิตกับพนักงาน การสร้างสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมให้ผู้คนพูดคุยอย่างเปิดอกและจริงใจต่อกัน และ การเข้าใจว่าจะสามารถป้องกันและประเมินความเสี่ยงของงานที่ส่งผลกระต่อสภาพจิตใจคนในทีมได้อย่างไรบ้าง

ซึ่งการมี supportive supervisor หรือ ที่ปรึกษาที่คอยซัพพอร์ต เหล่านี้ จะทำให้พนักงานรู้สึกว่ามีคนที่พนักงานสามารถเชื่อใจได้ และรู้สึกว่าได้รับความใส่ใจ มีคุณค่า และมีความสัมพันธ์ที่ดีกับองค์กรได้เช่นกัน


5. การฝึกทักษะการผ่อนคลายให้พนักงานและการสานสัมพันธ์

บ่อยครั้งที่พนักงานรู้สึกตึงเครียด กดดัน และหมดไฟ แต่ไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไรดีเพื่อให้ตัวเองรู้สึกสบายใจได้มากขึ้น และนั่นก็อาจนำไปสู่แนวทางการรับมือกับปัญหาสุขภาพจิตแบบผิดๆ ซึ่งอาจยิ่งสร้างความยุ่งยากให้กับองค์กรในการแก้ไขปัญหาที่ตามมา ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันและช่วยเหลือพนักงานเหล่านี้ในทางอ้อมจึงเป็นการสอนหรือฝึกฝนทักษะในการผ่อนคลายตัวเองให้กับพนักงานเพิ่มเติม

โดยการฝึกทักษะต่างๆ อาจไม่ได้จำกัดอยู่แค่วิธีการจัดการความเครียดหรือภาวะหมดไฟเท่านั้น แต่อาจลองนึกถึงการจัดกิจกรรมหรือคอร์ส Workshop ต่างๆ ที่เกี่ยวกับการทำงานอดิเรกหรือกิจกรรมที่ผ่อนคลาย ซึ่งหากดูกันจริงๆ แล้วก็อาจจะไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อการทำงานสักเท่าไรนัก แต่เมื่อเราส่งเสริมพนักงานให้เกิดความสุขกับการใช้ชีวิต ได้มีเวลาพักผ่อนหย่อนใจ ผ่อนคลาย คลายเครียด แล้ว ความสุขของพนักงานก็จะทำให้พนักงานมีประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้นได้ รวมถึงพนักงานก็สามารถนำเอาทักษะที่ได้ฝึกฝนไปต่อยอดสร้างรายได้เสริมได้อีกด้วย ซึ่งเป็นการส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีอีกทางหนึ่ง

นอกจากนี้ การฝึกทักษะการผ่อนคลายหรือการเลือกทำกิจกรรมที่ผ่อนคลายก็ยังเป็นสิ่งที่อาจช่วยสานสัมพันธ์ของพนักงานในองค์กร หากกิจกรรมเหล่านั้นเป็นกิจกรรมที่ทำให้พนักงานได้มีโอกาสพบปะสังสรรค์หรือเรียนรู้ร่วมกัน การเลือกจัดกิจกรรมอย่างเช่น จัดงานสังสรรค์ ทำบุญ ออกทริป งานแสดง เล่นเกม ฝึกสมาธิ ฯลฯ ก็จะช่วยให้พนักงานไม่รู้สึกโดดเดี่ยวและผูกพันกับคนอื่นๆ รวมถึงผูกพันกับองค์กรได้อีกด้วย


6. การโปรโมตกิจกรรมเคลื่อนไหวร่างกายให้พนักงาน

ถึงแม้ว่ากลยุทธ์การดูแลสุขภาพใจจะเน้นไปที่การทำสิ่งที่เป็นนามธรรมให้เกิดขึ้นซะส่วนใหญ่ และเรื่องของจิตใจก็เป็นอะไรที่จับต้องได้ยาก แต่การส่งเสริมสุขภาพใจของพนักงานอีกอย่างที่ทำได้ง่ายและเป็นรูปธรรมก็คือการส่งเสริมด้านสุขภาพร่างกายแทน เนื่องจากมีคำกล่าวที่เป็นจริงว่า “ร่างกายที่แข็งแรงก็มาพร้อมจิตใจที่แข็งแรง” อยู่ด้วย

การเลือกใช้กลยุทธ์ที่โปรโมตการออกกำลังกาย หรือมีกิจกรรมเคลื่อนไหวร่างกายให้พนักงาน จึงเป็นสิ่งที่สามารถทำให้เกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม และมีผลอย่างมากต่อสุขภาพจิตของพนักงาน เนื่องจากมีงานวิจัยว่า การปล่อยให้พนักงานมีเวลาออกกำลังกายมากขึ้นจะทำให้พนักงานกระตือรือร้นหรือ productive มากขึ้น ซึ่งหากพนักงานรู้สึกว่าองค์พร้อมจะซัพพอร์ตเรื่องเหล่านี้ พวกเขาก็มีโอกาสที่จะรู้สึกผูกพันกับงานที่ทำมากขึ้นด้วย ดังนั้น องค์กรอาจเลือกให้สวัสดิการกับพนักงาน หรือใช้การจัดกิจกรรมร่วมกันเข้ามาเพื่อสร้างกลยุทธ์นี้ เช่น การจัดกิจกรรมเดิน-วิ่ง โยคะ ว่ายน้ำ ตีแบด ปิงปอง ฯลฯ ขึ้นมาก็ได้ แต่ทั้งนี้ก็ต้องคำนึงด้วยว่ากิจกรรมดังกล่าวจะไม่รบกวนเวลาและเหนื่อยเกินไปที่จะทำ


7. การให้สวัสดิการด้านสุขภาพจิต

กลยุทธ์สุดท้าย และอาจเป็นกลยุทธ์ที่ใหม่มากสำหรับหลายๆ องค์กร เนื่องจากที่ผ่านมา การส่งเสริมสุขภาพของพนักงานมักมุ่งเน้นไปที่การส่งเสริมสุขภาพกายซะมากกว่าเพราะเห็นว่าการเจ็บป่วยทางกายส่งผลอย่างชัดเจนต่อประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน แต่ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป หลายองค์กรก็เริ่มมองเห็นว่าสุขภาพจิตของพนักงานก็ส่งผลต่อประสิทธิภาพในการทำงานของพนักงานด้วยเช่นกัน

ยังไงก็ตาม กลยุทธ์โดยส่วนใหญ่จึงเป็นการหาทางป้องกันและรับมือในเบื้องต้นเพื่อส่งเสริมความสุขในการทำงานของพนักงานซะมากกว่า แต่นั่นอาจยังเป็นความเข้าใจเกี่ยวกับสุขภาพจิตของคนในองค์กรที่ยังคับแคบ และอาจทำให้พนักงานรู้สึกว่าท้ายที่สุดแล้ว สุขภาพจิตของพนักงานก็เป็นเพียงเรื่องที่ต้องถูกผลักภาระความรับผิดชอบให้เป็นเรื่องส่วนบุคคลต่อไป

เพื่อให้เกิดสังคมการทำงานที่ดีต่อใจได้มากขึ้น จึงอาจต้องมองให้ครอบคลุมกว่านั้น โดยเฉพาะการเข้าใจว่า “ต่อให้การป้องกันจะมีมากแค่ไหน แต่ปัญหาก็สามารถเกิดขึ้นได้เสมอ” ซึ่งมุมมองเช่นนี้เป็นการคำนึงถึงความเสี่ยงตามหลักความเป็นจริง และพยายามที่จะรับมือกับความเสี่ยงเหล่านั้น

กลยุทธ์สุดท้ายจึงเป็นการให้สวัสดิการกับพนักงานในด้านสุขภาพจิต หมายถึง การให้ความช่วยเหลือบางอย่างแก่พนักงานที่ประสบกับปัญหาทางจิตใจและไม่สามารถรับมือแบบทั่วๆ ไปได้ หรือในบางกรณีที่อาจหมายถึง การที่พนักงานไม่สามารถที่จะบอกเล่าเรื่องราวปัญหาของตัวเองให้กับคนอื่นๆ ได้เช่นกัน ดังนั้น การได้รับความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต (จิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา) จึงเป็นสิ่งจำเป็นในกรณีเหล่านี้

แนวทางของการให้สวัสดิการด้านสุขภาพจิตแก่พนักงานสามารถถทำได้หลากหลายวิธี เช่น การให้ความช่วยเหลือด้านค่าใช้จ่ายในการพบนักจิตบำบัด การเพิ่มนักจิตวิทยาเข้าไปในองค์กร การร่วมมือกับผู้ให้บริการด้านสุขภาพจิตจากภายนอกเพื่อส่งต่อพนักงานไปรับบริการ เป็นต้น

โดยการให้สวัสดิการความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญสามารถออกแบบได้ตามความเหมาะสมและงบประมาณขององค์กร ซึ่งมีตัวอย่างในหลากหลายรูปแบบ

ในองค์กร American Psychological Association (APA) หรือสมาคมจิตวิทยาของอเมริกา ก็ใช้วิธีการมอบสวัสดิการให้พนักงานเข้ารับบริการด้านสุขภาพจิตได้โดยจ่ายเงินน้อยลง และอีกตัวอย่างคือ บริษัท Ernst&Young (EY) ก็ให้สวัสดิการเข้ารับการทำจิตบำบัดแก่พนักงานและครอบครัวของพนักงาน 25 session ต่อปี เนื่องจากเล็งเห็นว่าชีวิตครอบครัวของพนักงานก็มีอิทธิพลต่อสุขภาวะและประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานด้วย


อ่านบทความทั้งหมด >>> กลยุทธ์การสร้างสังคมการทำงานที่ดีต่อใจ | Strategies for Psychological Healthy Workplaces


อ่านบทความทั้งหมดของ >>> “องค์กรจะป้องกันไม่ให้พนักงานหมดไฟได้อย่างไร?: แค่จัดการความเครียดได้พนักงานก็ไม่หมดไฟในการทำงาน” (คลิกเพื่อดูรายละเอียด)