Unlock yourself: ด้วยรักกำลังดี
โดย โค้ชฮิม ยศภัทร โต๊ะสงวนพันธ์ | Head of Mental Wellness Solutions & Therapeutic Coach @ ใจฟูบริการดูแลสุขภาพใจพนักงานสำหรับองค์กร
ความรัก เป็นความรู้สึก สภาพและเจตคติต่าง ๆ ซึ่งมีตั้งแต่ความชอบ ระหว่างบุคคลหมายถึงอารมณ์การดึงดูดและความผูกพัน (attachment) ส่วนบุคคลอย่างแรงกล้า[1] ในบริบททางปรัชญา ความรักเป็นคุณธรรมแสดงออกซึ่งความเมตตา ความเห็นอกเห็นใจ และความเสน่หาทั้งหมดของมนุษย์ ความรักเป็นแก่นของหลายศาสนา อย่างเช่นในวลี “พระเจ้าเป็นความรัก” ของศาสนาคริสต์ หรืออากาเปในพระวรสารในสารบบ[2] ความรักยังอาจอธิบายได้ว่าเป็นพฤติกรรมต่อตนเองหรือผู้อื่นซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานความเห็นอกเห็นใจ หรือความเสน่หา[3]
ที่มา: https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%81
ผมขอเปรียบคำว่า “ความรัก” คือ การเป็นผู้ให้ และการเป็นผู้รับ
ก่อนเราจะมาพูดถึง การเป็นผู้ให้ และการเป็นผู้รับ ในมุมทางจิตวิทยา หรือ วิทยาทางสมอง ผมอยากจะลองถามผู้อ่านทุกท่านสักหน่อยว่า.. การเป็นผู้ให้และผู้รับในความหมายของแต่ละคนคืออะไรครับ? ผมอยากให้ทุกท่านที่ได้อ่านโพสนี้ลองแชร์นิยามหรือให้ความหมายจากความรู้สึกของตัวเองก่อนกันสักหน่อยนะครับ
หลังจากที่ผู้อ่านทุกท่านได้นิยามของการเป็นผู้ให้และผู้รับในความหมายของตัวเองแล้ว ทีนี้เราลองมาแลกเปลี่ยนมุมมองด้วยกันดูบ้างดีไหมครับ 🙂
การให้ สำหรับผม คือ การที่เราได้แบ่งปัน ไม่ว่าจะเป็นสิ่งของ เรื่องราว อารมณ์หรือความรู้สึกดีๆ ให้กับอีกผ่าย อย่างไรก็ดีการให้ คือ นามธรรม เวลาที่เราได้ให้ ผลลัพท์ที่ได้จะสะท้อนมารูปของอารมณ์ว่าเรารู้สึกอย่างไรหลังจากที่ได้ให้ เช่น พึงพอใจ ยินดี หรือ เฉยๆ // ส่วนการรับ คือ การรับความปรารถนาดีจากผู้ให้โดยไม่คาดหวังต่อสิ่งที่ได้รับ
อย่างไรก็ดี การให้ กับ การรับ เป็นสิ่งที่อยู่คู่กันบนโลกของเรามาอย่างช้านาน จะแยกจากกันไปไม่ได้ หากบนโลกของเรามีแต่ผู้รับ ไม่มีผู้ให้ โลกของเราก็อาจจะเต็มไปด้วยการแก่งแย่งชิงดี หรือ เอารัดเอาเปรียบจากฝ่ายใดฝ่ายนึงจนหาความสุขไม่ได้
ดังนั้น Key takeaways ที่อยากจะฝากให้กับผู้อ่านทุกๆท่าน คือ หากมีโอกาสอยากให้ผู้อ่านทุกท่านได้ลองฝึก โดยการมองย้อนกลับเข้าไปในใจหลังจากที่ได้ให้ หรือ รับดูว่าเรารู้สึกอย่างไร โดยส่วนตัวผมมักจะย้อนกลับมาถามตัวเราอยู่ตลอดว่ารู้สึกอย่างไร หากเราได้ฝึกในสิ่งเหล่านี้อยู่เรื่อยๆ ก็จะทำให้เราเป็นคนที่มีไหวพริบและฉลาดทางด้านอารมณ์ (EQ) และรวมถึงการพัฒนาของสมองที่ดียิ่งขึ้นด้วย
ส่วนการให้ในทางพุทธศาสนา คือ การสละ สละในสิ่งที่เรามีให้กับผู้อื่น เพื่อลดความยึดมั่นถือมั่น โดยไม่หวังสิ่งใดตอบแทน // ส่วนการเป็นผู้รับ คือ การที่มีความสุขจากการได้รับในสิ่งเหล่านั้น โดยไม่ยึดติดกับสิ่งของที่ได้รับว่าจะเป็นของแพง/ถูก หรือ ดี/ไม่ดี
ดังนั้น ความหมายของการให้และการรับนั้น สามารถแตกแขนงไปได้หลายความหมาย โดยส่วนใหญ่ความหมายที่ได้มักจะล้อไปกับค่านิยมและความเชื่อของแต่ละคน ซึ่งไม่มีถูกและไม่มีผิด อยู่ที่ว่าคำเหล่านี้มันมีความหมายกับเราในแต่ละสถานการณ์นั้นๆอย่างไร
ทฤษฎี “การให้และการรับ” ในวิทยาศาสตร์ทางสมอง มีผลต่อสมองเราอย่างไร?
หากเราให้ด้วยความเต็มใจ อิ่มอกอิ่มใจ สมองจะปล่อยฮอร์โมนเอ็นดอร์ฟิน (Endorphin) หลายคนอาจจะสงสัยว่า ฮอร์โมนชนิดนี้ คืออะไร เอ็นดอร์ฟิน (Endorphin) คือ ฮอร์โมนที่ช่วยบรรเทาอาการปวดตามธรรมชาติที่ผลิตจากภายในร่างกาย ร่างกายจะปล่อยสารนี้ออกมาเพื่อตอบสนองต่อความเจ็บปวดหรือความเครียด โดยจะกระจายไปทั่วตามระบบประสาท ซึ่งการหลั่งเอ็นโดรฟินทำให้รู้สึกมีความสุข เคลิบเคลิ้ม อิ่มอกอิ่มใจ คลายเครียด ทำให้อยากอาหารมากขึ้น ช่วยหลั่งฮอร์โมนเพศ และเสริมสร้างการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน เป็นต้น
เราจะสามารถมอบความรักด้วยการเป็นผู้ให้กับผู้รับอย่างไร?
เดี๋ยวเราลองดูมากัน โดยในบทความนี้ เราจะมาพูดถึง มิติของความสัมพันธ์ส่วนตัว (ครอบครัว/คนรัก) กันสักหน่อยครับ
ก่อนอื่นเลย ผมขอถามผู้อ่านทุกท่านหน่อยว่า ใครบ้างที่อยากจะมีความสุขจากความสัมพันธ์กับคนรอบข้างที่ดีครับ? และใครบ้างที่อยากจะได้แนวทางนำไปปรับใช้เพื่อพัฒนา/สร้างความสัมพันธ์ที่ดีบ้างครับ?
งานวิจัยจาก Harvard University ที่เป็น 1 ใน Ivy league จากอเมริกา กล่าวไว้ว่า “1 ในปัจจัยที่จะช่วยให้คนเราจะมีสุขภาพดีและมีความสุข เกิดจากความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้างและการได้รับการยอมรับจากสังคม ดังนั้นปฏิเสธไม่ได้เลยว่าความสัมพันธ์ที่ดี เป็นรากฐานสำคัญที่จะช่วยสร้างความเข็มแข็งทางจิตใจ (Mental resilience) ให้กับผู้คนได้”
นิยามคำว่า “ความรัก” ของผมไม่ใช่การเป็นผู้ให้กับผู้รับเหมือนอย่างทุกวันนี้ โดยเมื่อก่อนความรักในความหมายของผม คือ ความคาดหวัง โดยเรามักจะคาดหวังว่าคนนั้นต้องเป็นอย่างโน้น คนโน้นจะต้องเป็นอย่างนี้ พอไม่ได้ในสิ่งที่เราต้องการ ก็จะรู้สึกหงุดหงิดหรือหัวเสียทันที โดยที่เราไม่เคยได้ดูบริบทในสถานการณ์นั้นๆเลย และมักจะใช้ความต้องการของตัวเองเป็นที่ตั้งอยู่ฝ่ายเดียว
สมัยก่อนตัวของผมเป็นคนที่ค่อนข้างเอาแต่ใจ อยากได้อะไรก็ต้องได้ และมักจะเรียกร้องจากคนรักอยู่เสมอโดยที่เราก็ไม่รู้ตัวเองว่าทำไมถึงทำแบบนั้น ในทางกลับกันแฟนเก่าของผมถึงแม้ว่าจะเป็นตัวของตัวเองมากขึ้นแต่เขาก็ยังตามใจเรามากกว่าเราตามใจเขาเมื่อมองย้อนกลับไป อย่างที่ผมได้เกริ่นไปในตอนต้นครับ หากบนโลกใบนี้มีแต่ผู้รับ ไม่มีผู้ให้ โลกของเราก็คงจะมีแต่ความวุ่นวายและปราศจากความรักความจริงใจต่อกันและกันนะครับ
จนมาถึงจุดเปลี่ยนที่แฟนเก่าของผมเริ่มหมดความอดทน และเดินออกมาจากความสัมพันธ์นี้ ช่วงแรกๆตัวผมก็ยังทำใจไม่ได้และยังพยายามง้อแฟนเก่าเพื่อหาเหตุผลว่า เพราะอะไรถึงเลือกเดินออกไปจากเราไปแบบนี้ เราไม่ดีตรงไหนทั้งๆที่เราก็พยายามให้แฟนเก่าของเราทุกสิ่งทุกอย่างที่เราจะให้ได้ จนแล้วจนรอดผมก็ไม่สามารถยื้อความสัมพันธ์นี้ต่อไปได้ เพราะยังไงเขาก็เลือกที่จะไป เนื่องจากได้ตัดสินใจไปแล้ว เราก็เลยไม่มีทางและต้องถอยออกมาทั้งที่ไม่ได้เต็มใจกับเลือกทางนี้ ในตอนนั้นต้องยอมรับเลยว่าตัวผมได้เข้าใจถึงความรู้สึกอกหักจากรักแรกอย่างท่องแท้ และรู้สึกเลยว่าโลกของเราเหมือนพังทลายลงไป การสูญเสียคนรักในจังหวะและเวลาที่ไม่ใช่มันเจ็บแบบนี้นี่เอง ถึงแม้ว่าจะเสียใจมาก แต่ก็พยายามหาเหตุผลว่าทำไมเขาถึงเลือกที่จะไป ช่วงเวลาผ่านไปบาดแผลที่เกิดขึ้นในใจก็เหมือนจะได้รับการเยียวยาตามกาลเวลา และเริ่มมีสติที่มั่นคงมากขึ้นเพื่อก้าวข้ามผ่านช่วงเวลานี้ไปให้ได้ จนได้มีโอกาสย้อนเวลากลับไปเพื่อหาเหตุผลและค้นพบจากภาพความทรงจำในอดีตว่าเหตุผลที่แฟนเก่าเลือกที่จะเดินจากเราไปเป็นเพราะ ในตอนนั้นเราทั้งดื้อรั้น เอาแต่ใจ ไม่ฟังใคร แถมยังชอบพูดคำหยาบเวลาที่โมโห เราคิดว่าคำพูดไม่ดีบางคำที่เราเคยหลุดพูดออกไปคงเป็นเหมือนตะปูที่ไปตอกไว้ในใจของแฟนเก่า จนถึงจุดนึงที่เขาคงรับมันไม่ไหวอีกต่อไป ถึงแม้เขายังรักแต่สุดท้ายก็เลือกที่จะเดินจากไป เพราะไม่สามารถทนกับความรู้สึกๆแย่ได้อีกต่อไป ซึ่งตรงนี้เองก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นของบทเรียนและประสบการณ์ด้านความรักของผม
การตกผลึกในสิ่งเหล่านี้ มันได้สร้างคุณค่า หรือ การเปลี่ยนแปลงกับตัวเองอย่างไร?
และจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้มุมมองด้านความรักของผมค่อยๆเริ่มเปลี่ยนไปจากคนที่เคยเป็นแต่ผู้รับ ก็ค่อยๆเริ่มกลับมาให้มากกว่าที่จะรับ จนสิ่งเหล่านี้ค่อยๆเปลี่ยนจากการฝึกฝนมาเป็นนิสัยและต่อยอดจนกลายมาเป็นตัวตนของผมที่ได้เข้าใจถึงธรรมชาติของความรักอย่างท่องแท้แล้วว่า ความรัก นั้นคือ การให้และการรับ หากทั้ง 2 สิ่งนี้แยกจากกันไป หรือมีแค่ข้อใดข้อหนึ่ง คำว่า ความรักในนิยามของผมก็คงจะขาดเสน่ห์และความสวยงามไปไม่น้อยเลยนะครับ
อย่าลืมให้รางวัลตัวเอง / ขอบคุณตัวเอง
สุดท้ายนี้ก็อย่าลืมขอบคุณตัวเองและบุคคลที่เคยที่ผ่านเข้ามาในชีวิตกันดูนะครับ หากปราศจากบุคคลและเรื่องราวเหล่านี้ เราก็คงไม่เจอกับบทเรียนที่มาสอนให้เราได้เรียนรู้และเติบโตในฐานะของมนุษย์คนนึงอย่างแน่นอนครับ เพราะความรักคือการให้และการรับ ฉะนั้นต่อจากนี้เรามาใช้ชีวิตให้แตกต่างออกไปด้วยการรู้จักให้และรับอย่างจริงใจด้วยกันนะครับ