ความสุขทางจิตวิญญาณ #4 | หนึ่งในตัวช่วยด้านสุขภาพใจสำหรับพนักงานจนถึงผู้บริหาร (Spiritual Well-being)

การบูรณาการงานกับชีวิตให้เป็นหนึ่งเดียวกันจึงกลายเป็นอีกหนึ่งแนวคิดสำคัญ แม้แต่การที่เราอาจต้องลองมองหาความสุขทางจิตวิญญาณที่สัมพันธ์กับงานที่ทำ

ตอนที่ 4: การสร้างองค์กรที่มีจิตวิญญาณ

โดย นักจิตวิทยาการปรึกษา คุณเจ เจษฎา กลิ่นพูล | Counseling Psychologist @ ใจฟูบริการดูแลสุขภาพใจพนักงานสำหรับองค์กร

spiritual well-being ยังเกี่ยวข้องกับการมีสัมพันธ์กับสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวเรา การพัฒนาความสุขทางจิตวิญญาณในแง่ของการสร้างความผูกพันของพนักงานกับงานที่ทำอย่างมีความหมายได้ จึงอาจกลายเป็นสิ่งที่ช่วยให้พนักงานเกิดการพัฒนาทางจริยธรรมและทัศนคติที่สอดคล้องกับองค์กรไปพร้อมกันด้วย คล้ายกับการมีตัวแบบของชีวิตการทำงานเป็นเป้าหมายที่พนักงานอยากจะเป็นให้ได้

ในหัวข้อสุดท้าย ผมจะขอพูดถึงในระดับของการสร้างสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมการมีความสุขทางจิตวิญญาณสำหรับคนวัยทำงานเป็นส่วนสำคัญ โดยแน่นอนว่าสภาพแวดล้อมนั้นก็คือ “องค์กร” หรือ “สถานที่ทำงาน” ซึ่งอาจเป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญที่จะทำให้คนวัยทำงานหลายคนรู้สึกได้ว่า พวกเขาจะเกิดความสุขทางจิตวิญญาณกับงานที่ทำอยู่ได้รึเปล่า

ที่ต้องพูดถึงเรื่องนี้ เพราะถึงแม้ว่าความสุขทางจิตวิญญาณจะเป็นเรื่องเฉพาะตัวของแต่ละคน และแต่ละคนก็สามารถที่จะมีการให้ความหมายกับงานที่ทำอยู่ได้แตกต่างกัน แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าองค์กรจะไม่จำเป็นต้องใส่ใจกับการช่วยส่งเสริมให้พนักงานเกิดความสุขทางจิตวิญญาณหรือเกิดจิตวิญญาณในการทำงานเลย

เช่นเดียวกับเวลาที่เราพูดถึง “ความผูกพันกับองค์กร” พนักงานอาจรู้สึกผูกพันกับองค์กรได้ด้วยตัวเองจากสิ่งที่พวกเขาได้ลงทุนลงแรงไป แต่ในขณะเดียวกัน ความผูกพันกับองค์กรนี้ก็อาจจางหายไปได้หากการลงทุนลงแรงไปกับความรู้สึกผูกพันเหล่านั้นไม่ได้รับการตอบสนองกลับมา พูดให้เข้าใจง่ายๆ ได้ว่า ต่อให้พนักงานจะทุ่มเทแรงกายแรงใจให้กับองค์กรมากแค่ไหน แต่หากองค์กรไม่ได้สนใจความพยายามเหล่านั้นของพวกเขา มันก็อาจกลายเป็นความทุกข์ใจของการรักข้างเดียวในกลุ่มพนักงานก็ได้

เพื่อให้เข้าใจและเห็นภาพว่า การให้ความสำคัญกับความสุขทางจิตวิญญาณ หรือ spiritual well-being ในองค์กรหรือสถานที่ทำงานมีความสำคัญอย่างไร ผมก็คงต้องขอยกตัวอย่างได้อย่างง่ายๆ เช่นเดียวกันด้วยเรื่องของผลกระทบที่อาจตามมาหากพนักงานรู้สึกขาดจิตวิญญาณในการทำงานไปแล้ว โดยพนักงานที่ขาดจิตวิญญาณในการทำงานไปก็อาจจะรู้สึกไร้คุณค่าความหมายในงานที่ทำอยู่ เกิดความรู้สึกไม่มั่นใจในความสามารถของตน รู้สึกไม่พึงพอใจในตัวเอง มองไม่เห็นความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับองค์กรหรือแม้แต่กับเพื่อนร่วมงาน รู้สึกแปลกแยก จนอาจนำมาสู่การขาดงาน ลางาน ไม่พึงพอใจกับงาน ทำงานแบบขอไปที รวมจนถึงเกิดความเครียด หมดไฟ และลาออกจากงานได้

การคงไว้ซึ่งมิติทางจิตวิญญาณหรือส่งเสริม spiritual well-being ในสังคมการทำงาน จึงเป็นเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กันกับการหาทางช่วยเหลือทางใจให้กับกลุ่มพนักงานในด้านอื่นๆ ยิ่งไปกว่านั้น เนื่องจาก spiritual well-being ยังเกี่ยวข้องกับการมีสัมพันธ์กับสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวเรา การพัฒนาความสุขทางจิตวิญญาณในแง่ของการสร้างความผูกพันของพนักงานกับงานที่ทำอย่างมีความหมายได้ จึงอาจกลายเป็นสิ่งที่ช่วยให้พนักงานเกิดการพัฒนาทางจริยธรรมและทัศนคติที่สอดคล้องกับองค์กรไปพร้อมกันด้วย คล้ายกับการมีตัวแบบของชีวิตการทำงานเป็นเป้าหมายที่พนักงานอยากจะเป็นให้ได้

นอกจากนี้ พนักงานที่รับรู้ได้ว่าองค์กรของพวกเขาเป็นองค์กรที่มีจิตวิญญาณ ก็อาจค้นพบความรู้สึกเชื่อมโยงตัวเองเข้ากับองค์กรโดยอัตโนมัติ ซึ่งพนักงานอาจค้นพบว่างานที่ตัวเองทำมีความหมายบางอย่างต่อบางสิ่ง มีค่ามีความหมายมากพอที่จะทำงานนั้นต่อไป และเกิดแรงจูงใจให้กับพนักงานที่จะทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพ รวมทั้งรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับองค์กรหรือเพื่อนร่วมงาน จนสร้างความสัมพันธ์ทางบวกให้เกิดขึ้นภายในองค์กรขึ้นมาอีกด้วย

ยังไงก็ตาม การสร้างองค์กรที่มีจิตวิญญาณหรือส่งเสริมความสุขทางจิตวิญญาณของพนักงานอาจไม่จำเป็นที่จะต้องเล่นใหญ่ หรือผูกติดตัวเองไว้กับการจัดกิจกรรมทางศาสนาหรือความเชื่อเท่านั้น เพราะอย่างที่บอกว่า งานก็อาจเป็นหนึ่งในสิ่งที่หลายคนเลือกใช้เป็นตัวสร้างแง่มุมทางจิตวิญญาณขึ้นมาโดยไม่รู้ตัว (งานที่เราทำกำหนดสิ่งที่เราเป็น) ดังนั้น การสร้างองค์กรที่มีจิตวิญญาณที่เชื่อมโยงกับแนวคิดนี้ได้มากกว่าจึงอาจเป็นการย้อนกลับมาทบทวนวิสัยทัศน์ขององค์กรเสียใหม่ก็ได้

กุญแจสำคัญในการสร้างองค์กรที่มีจิตวิญญาณ

เว็บไซต์ Converge International ได้ให้กุญแจสำคัญในการสร้างองค์กรที่มีจิตวิญญาณไว้จำนวนหนึ่ง ซึ่งผมขอสรุปและเพิ่มเติมความคิดเห็นในแนวทางต่างๆ ดังนี้

1. กำหนดพันธกิจให้ชัดเจน – องค์กรต้องกำหนดจุดประสงค์และแนวทางที่จะให้สินค้าและบริการกับลูกค้าอย่างชัดเจน โดยเป้าหมายขององค์กรและบริษัทควรจะเป็นการสร้างคุณประโยชน์ต่อสังคมในภาพรวม ไม่ใช่แค่สำหรับใครคนใดคนหนึ่ง

2. สื่อสารเป้าหมาย – การสื่อสารเป้าหมายขององค์กรหรือบริษัทให้กับเหล่าพนักงานและผู้บริหารเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้พนักงานและผู้บริหารภายในองค์กรซึมซับและเข้าใจเกี่ยวกับเป้าหมายและพื้นฐานของสังคมการทำงานภายในบริษัทด้วย

3. จ้างให้ถูกคน – นอกเหนือจากที่บริษัทจะเลือกจ้างงานคนผ่านการดูข้อมูลใน resume แล้ว การคัดเลือกพนักงานเข้าทำงานเพื่อให้สอดคล้องไปกับแนวทางขององค์กรก็ควรเลือกคนที่เหมาะสม เข้าใจ และสามารถดำเนินชีวิตตามแบบสังคมการทำงานของบริษัทได้

4. ส่งเสริมแนวคิด “สถานประกอบการสำหรับทุกคน” หรือ “Inclusive workplace” – การลดช่องว่างการแบ่งแยกความแตกต่างและยอมรับความหลากหลายของพนักงานเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่อาจช่วยให้องค์กรมีสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตร รวมทั้งช่วยให้พนักงานรู้สึกเป็นอิสระ ได้รับการยอมรับ และสนับสนุนให้พนักงานภูมิใจกับการเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร

5. ลดการสร้างความกลัวและหล่อเลี้ยงความเชื่อใจ – ความไว้วางใจเป็นหนึ่งในพื้นฐานที่สำคัญของการมีความสัมพันธ์ แม้แต่การที่พนักงานจะมีความสัมพันธ์กับงานของตัวเองอย่างไรก็ต้องอาศัยสิ่งเดียวกันไม่มากก็น้อย แต่ความแตกต่างนั้นอาจอยู่ที่ความไม่เชื่อใจต่องานอาจไม่ใช่สิ่งที่อยู่ในรูปแบบของความน่าหวาดระแวงของงานนั้นๆ แต่อยู่ที่ความรู้สึกของพนักงานต่อความผิดพลาดที่จะเกิดขึ้นได้ในการทำงาน หากพนักงานมีความรู้สึกหวาดกลัวความผิดพลาด ความสัมพันธ์ของพนักงานกับงานนั้นก็อาจถูกบั่นทอนลงไปทีละน้อยและไม่สามารถเรียนรู้จากความผิดพลาดของตนเองได้ ดังนั้น การส่งเสริมให้พนักงานเชื่อมั่นในงานที่ทำอยู่แม้จะพบเจอความผิดพลาด และไม่มองว่าความผิดพลาดเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตมากเกินไปจึงเป็นอีกหนึ่งในกุญแจสำคัญ

6. ส่งเสริมกิจกรรมฝึกสติ – องค์กรสามารถช่วยให้พนักงานเสริมสร้างความสุขทางจิตวิญญาณของตนเองได้ผ่านการทำกิจกรรมฝึกสติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การทำสมาธิ หรือ เล่นโยคะ เป็นต้น โดยการส่งเสริมกิจกรรมเหล่านี้ นอกจากจะช่วยให้พนักงานได้สำรวจตัวเองและพัฒนาจิตใจของตัวเองมากขึ้นแล้ว ยังอาจช่วยเปิดโอกาสให้พนักงานทบทวนความสัมพันธ์ที่ตัวเองมีกับองค์กรได้มาก ผูกพันกับองค์กรมากขึ้น และรู้สึกถึงการทำงานอย่างมีคุณค่าความหมายมากขึ้นได้อีกด้วย

7. จัดตั้งสัมมนาช่วยพัฒนาตัวเองให้กับพนักงาน – นอกเหนือจากการช่วยเหลือพนักงานในการพัฒนาทักษะการทำงานแล้ว การช่วยพัฒนาทักษะอื่นๆ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของพนักงานก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่กลายเป็นกุญแจสำคัญ เนื่องจากการพัฒนาตนเองของพนักงานในด้านต่างๆ เช่น ทักษะทางสังคม การจัดการชีวิตส่วนตัว หรือแนวทางของความเป็นมืออาชีพ สิ่งเหล่านี้อาจช่วยให้พนักงานรับมือกับความรู้สึกด้านลบและความเครียดของตนเองมากขึ้น รวมถึงมีความสามารถในการสร้างสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานและหัวหน้างานในทางบวกได้อีกด้วย

8. ทำความรู้จักพนักงานแบบรายคน – การที่หัวหน้างานหรือผู้บริหารทำความรู้จักพนักงานแบบรายบุคคลอาจมีส่วนช่วยให้พนักงานรู้สึกได้ว่าองค์กรมีความห่วงใยต่อพวกเขาและความเชื่อความศรัทธาในชีวิตการทำงานของพวกเขา สิ่งเหล่านี้เองที่อาจกลายเป็นหนึ่งในแนวทางที่ช่วยให้พนักงานเกิดความรู้สึกถึงการดำรงอยู่อย่างมีจุดมุ่งหมายและรู้สึกเชื่อมโยงกับองค์กรได้มากขึ้น จนถึงขั้นที่อาจจะช่วยสร้างขวัญกำลังใจให้กับพวกเขาและจูงใจให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพได้อีกด้วย

9. สนับสนุนการมีเวลานอกที่ห่างจากเรื่องงาน – การคอยสนับสนุนให้พนักงานมีเวลานอกที่ไม่ต้องมานั่งคิดถึงเรื่องงานอย่างต่อเนื่องเพื่อให้พวกเขาไปใช้เวลากับครอบครัว ทำเรื่องส่วนตัว ดูแลสุขภาพ หรือทำงานอดิเรกต่างๆ เป็นอีกหนึ่งในกุญแจสำคัญข้อสุดท้าย โดยหากองค์กรทำเช่นนี้อย่างสม่ำเสมอราวกับว่าแคร์การหาสมดุลในชีวิตและการทำงานของพนักงานจริงๆ สิ่งที่พนักงานรู้สึกว่าองค์กรมอบให้ก็อาจไม่ใช่แค่การใส่ใจสุขภาพของพนักงานเท่านั้น แต่ยังช่วยหล่อเลี้ยงการใช้ชีวิตอย่างมีความสุข พึงพอใจ และมีจิตใจที่สงบในชีวิตการทำงานได้

ทิ้งท้าย

บทความนี้อาจเป็นเพียงการอธิบายแนวคิดและแนวทางการสร้างความสุขทางจิตวิญญาณในเบื้องต้นเพื่อให้ทุกคนที่ได้อ่านเกิดความเข้าใจ สนใจ และหันมาให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพใจในด้านนี้กันดูบ้าง ยังไงก็ตาม แนวทางที่เราสามารถทำได้เพื่อหล่อเลี้ยงหรือส่งเสริมศรัทธา ความเชื่อ เติมพลังทางจิตวิญญาณก็ยังคงมีอีกหลากหลายแนวทางที่เป็นไปได้ให้เลือกสรรกัน

อย่างไรก็ดี การสรุปคำแนะนำที่เป็นไปได้เกี่ยวกับการสร้างความสุขทางจิตวิญญาณ หรือ spiritual well-being ตามที่ผมได้พูดมาอย่างยาวเหยียดให้สั้นลงอีกนิดได้แล้วก็อาจประกอบไปด้วยสิ่งเหล่านี้

“ลองสำรวจความหมายในชีวิตและคุณค่าภายในตัวเองดู, รู้จักสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้างกันบ้าง, หาโอกาสใช้ชีวิตท่ามกลางธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม หรือสัมผัสชีวิตที่เรียบง่ายซักครั้ง, และลองเข้าร่วมกิจกรรมทางศาสนา ความเชื่อ หรือกิจกรรมทางจิตวิญญาณที่รู้สึกสนใจดูอีกหน่อยครับ”


อ่านบทความทั้งหมด >>> ความสุขทางจิตวิญญาณ | หนึ่งในตัวช่วยด้านสุขภาพใจสำหรับพนักงานจนถึงผู้บริหาร

อ่านบทความทั้งหมด >>> เข้าใจคนอื่นหรือเข้าใจตัวเองก่อน? Empathy VS Self-empathy


อ่านบทความทั้งหมด >>> กลยุทธ์การสร้างสังคมการทำงานที่ดีต่อใจ | Strategies for Psychological Healthy Workplaces