ความสุขทางจิตวิญญาณ #3 | หนึ่งในตัวช่วยด้านสุขภาพใจสำหรับพนักงานจนถึงผู้บริหาร (Spiritual Well-being)
ตอนที่ 3: ความสุขทางจิตวิญาณของคนวัยทำงาน
โดย นักจิตวิทยาการปรึกษา คุณเจ เจษฎา กลิ่นพูล | Counseling Psychologist @ ใจฟูบริการดูแลสุขภาพใจพนักงานสำหรับองค์กร
ในทุกวันนี้แนวคิดที่มักพูดถึงกันบ่อยมากขึ้นสำหรับคนวัยทำงานคือการมี work-life balance ที่สมดุล นั่นก็เพราะสำหรับคนวัยทำงานหลายๆ คนแล้ว เราอาจหลงลืมไปได้ว่าเรายังคงเป็นมนุษย์ที่มีชีวิตจิตใจ การจะใช้เวลาไปกับการทำงานเพียงอย่างเดียวอาจทำให้เราต้องเผชิญกับความอ้างว้าง โดดเดี่ยว หรือมองไม่เห็นคุณค่าในตัวเองได้หากเรากำลังขาดความสนใจในตัวตนของเราเอง โดยเฉพาะการใส่ใจกับอารมณ์ความรู้สึกตามธรรมชาติของเรา
การคำนึงว่าถึงแม้เราจะก้าวเข้าสู่ช่วงวัยแห่งการทำงานแล้ว หรือแม้แต่สำหรับคนที่ทำงานมานานจนใกล้จะถึงจุดอิ่มตัวแล้ว แต่เราก็ยังคงเป็นมนุษย์ที่มีชีวิตจิตใจและชีวิตของเราก็ไม่ได้ผูกติดอยู่แค่กับงานใดงานหนึ่งเท่านั้น จึงอาจกลายเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เราเห็นได้ว่าชีวิตของเรามีองค์ประกอบอื่นอีกมากมายหลงเหลืออยู่ให้เราก้าวเดินและค้นหา
แต่ยังไงก็ตาม ก็เป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเวลาส่วนใหญ่ของเราถูกใช้ไปกับการทำงานเป็นหลัก และสถานที่ทำงานก็กลายเป็นเหมือนชุมชนหนึ่งในชีวิตของเราไปเสียแล้ว หลักการในการดำเนินชีวิตและการทำงานจึงแทบจะแยกออกจากกันไม่ขาดอีกต่อไป จนทำให้เราต้องมองหาตัวตนของเราผ่านงานที่ทำอยู่ และแน่นอนว่าหนึ่งในนั้นคือแง่มุมด้านจิตวิญญาณของเรา ที่อาจแทรกอยู่ในความสัมพันธ์ของเรากับงานที่ทำได้เช่นกัน
การนำมิติทางจิตวิญญาณเข้ามาใช้อธิบายเกี่ยวกับชีวิตของคนวัยทำงาน เป็นการที่เรากำลังมองชีวิตแบบเป็นองค์รวม และงานก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่สำคัญกับตัวเราในหลายๆ ด้าน การบูรณาการงานกับชีวิตให้เป็นหนึ่งเดียวกันจึงกลายเป็นอีกหนึ่งแนวคิดสำคัญ แม้แต่การที่เราอาจต้องลองมองหาความสุขทางจิตวิญญาณที่สัมพันธ์กับงานที่ทำอยู่จนสามารถรักษาจิตวิญญาณในการทำงาน หรือ spirituality at work ได้อย่างต่อเนื่อง
อย่างที่ผมได้เล่าในหัวข้อก่อนหน้านี้ไปแล้วว่า ลักษณะหนึ่งของ ความสุขทางจิตวิญญาณ หรือ spiritual well-being หมายถึงการมีความรู้สึกว่าเรากำลังมีสัมพันธ์กับสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวเรา ดังนั้น “งาน” เองก็เป็นหนึ่งในสิ่งเหล่านั้นได้เช่นกัน เพียงแต่ว่า “งานที่มอบจิตวิญญาณให้เรา” เป็นสิ่งที่ต้องสำรวจและค้นหาให้เหมาะสมกับตัวเราเองให้เจอไม่ต่างกับการมีความเชื่อทางศาสนา
สำหรับคนที่มีความสุขทางจิตวิญญาณในการทำงานได้ หรือเรียกว่า รักษาจิตวิญญาณในการทำงานได้อยู่เสมอ ก็มีโอกาสที่จะรับรู้ถึงความผาสุกในชีวิตจากงานที่ทำอยู่ โดยเกิดความผูกพันที่ลึกซึ้งคุณค่าความหมายและเป้าหมายของงานที่ทำ รวมทั้งอาจค้นพบอัตลักษณ์ในการดำเนินชีวิตจากงาน รู้สึกมีคุณค่าและเชื่อมั่นในศักยภาพของตัวเอง รวมทั้งมีศรัทธาต่องาน เป้าหมายของงาน หรือแม้แต่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนร่วมงานได้ด้วย
ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าการสร้างความสุขทางจิตวิญญาณสำหรับคนวัยทำงานจะแตกต่างกันตามแต่ละคน แต่เราก็อาจมีแนวทางในรูปแบบเดียวกันเพื่อเติมเต็มความสุขทางจิตวิญญาณได้เสมอ และอาจเป็นสารตั้งต้นให้เราเริ่มมองเห็นจิตวิญญาณของการทำงานที่ซ่อนอยู่ โดยตัวอย่างแนวทางของการสร้างความสุขทางจิตวิญญาณหรือ spiritual well-being ได้แก่
1. การฝึกทำสมาธิ
การฝึกสมาธิมีวิธรการหลากหลายรูปแบบ และไม่จำเป็นที่เราจะต้องจำกัดอยู่ในแง่มุมของศาสนาเท่านั้น โดยวิธีการที่สามารถทำได้อย่างง่ายๆ ก็คือการที่เราโฟกัสอยู่กับลมหายใจเข้าออกของตัวเอง จุดประสงค์ของการฝึกสมาธินี้ก็เพื่อฝึกให้ตัวเรามีการตระหนักรู้ในสิ่งต่างๆ รอบตัวและรู้จักสังเกตชีวิตรอบๆ ข้าง อีกทั้งยังสามารถช่วยลดความเครียดได้อีกด้วย
2. การฝึกสติ
การฝึกสติมีความคล้ายคลึงกับการฝึกสมาธิแต่ก็ยังคงมีความแตกต่างกันถึงแม้จะทำไปพร้อมกันได้ การฝึกสติจะเป็นการเน้นให้เรารู้จักสังเกตและตระหนักรู้ตัวอยู่กับปัจจุบันมากกว่า โดยเฉพาะการสัมผัสความรู้สึกและอารมณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในใจของเราชั่วขณะนั้นอย่างตีความและไม่ตัดสิน การฝึกสติสามารถทำได้ด้วยการฝึกฝนลมหายใจเข้าออก (หายใจเข้าให้ลึก หายใจออกให้นาน) ผ่อนคลายร่างกาย หรือแม้แต่ใช้จิตนาการถึงสถานที่ที่ทำให้รู้สึกผ่อนคลายก็ได้ และในขณะที่ทำสิ่งเหล่านี้ก็คอยสังเกตความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในใจของเราทุกขณะ สำหรับคนวัยทำงานแล้ว การฝึกสติจะมีส่วนช่วยเราได้ในเรื่องของความจำและการโฟกัสความสนใจของเราเพื่อให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
3. การสวดภาวนา
แน่นอนว่าการส่งเสริมมิติทางจิตวิญญาณยังไงก็หนีไม่พ้นการทำบางสิ่งที่สัมพันธ์กับความเชื่อความศรัทธาต่อบางสิ่งที่มองไม่เห็น และสิ่งเหล่านั้นก็ควรเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวเรา ยังไงก็ตาม การสวดภาวนาไม่ใช่สิ่งเดียวกันกับการสวดมนต์ในพิธีกรรมทางศาสนา แต่การสวดภาวนาหมายถึงการที่เราร้องขอความช่วยเหลือจากพลังอำนาจที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวเรา ที่อาจเป็นสิ่งใดก็ได้เพื่อให้เราสามารถผ่านพ้นอุปสรรคไปได้ หรืออาจเป็นเพียงการที่เราแสดงออกถึงความรู้สึกขอบคุณต่อสิ่งต่างๆ ผ่านการอธิษฐาน (เช่น การขอบคุณตัวเองและสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับชีวิตในแต่ละวัน) ซึ่งการสวดภาวนาจะเป้นสิ่งที่ช่วยบรรเทาความเครียดในใจของเราได้ และได้สัมผัสถึงความรู้สึกผูกพัน ความรัก และสัมพันธ์กับมิติจิตวิญญาณมากขึ้น
สำหรับการพูดถึงหัวข้อนี้ ผมจึงได้นึกถึงการอธิษฐานหนึ่งของเพื่อนชาวคริสต์ที่ผมเคยได้ยินขึ้นมาว่า “ข้าแต่พระเจ้า …ได้โปรดประทานความสงบนิ่งแก่ข้าพระองค์ในการยอมรับสิ่งที่ข้าพระองค์ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้ โปรดประทานความกล้าในการเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ และโปรดประทานสติปัญญาในการที่จะรู้ความแตกต่างระหว่างสองสิ่ง” ซึ่งฟังดูแล้วก็ทำให้เกิดความสงบใจได้แบบแปลกๆ เหมือนกัน
4. โยคะ
โยคะถือได้ว่าเป็นกิจกรรมการออกกำลังกายที่เริ่มแพร่หลายมากขึ้น เสมือนเป็นทางเลือกการออกกำลังกายแบบหนึ่งสำหรับบางคนที่ขี้เกียจออกกำลังกายแบบหนักๆ เลยด้วยซ้ำ แต่ในอีกแง่มุมหนึ่ง โยคะก็เป็นแนวทางของการเสริมสร้างความสุขทางจิตวิญญาณได้ด้วย เนื่องจากโยคะมีลักษณะของการฝึกสติ ควบคุมลมหายใจ ฝึกสมาธิ และมีการสังเกตตัวเองในเวลาที่เคลื่อนไหวไปในท่าต่างๆ โยคะจึงกลายเป็นหนึ่งในแนวทางการสร้างสุขภาพกายและใจที่แพร่หลายอย่างมาก ซึ่งนอกจากจะช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายแล้ว โยคะยังกลายเป็นกิจกรรมที่แนะนำสำหรับผู้มีปัญหาทางจิตใจในหลายครั้งเช่นกัน
5. การทำ Journaling
Journaling หรือ การจดบันทึก อาจเรียกให้ถูกต้องได้มากกว่าคือ “การเขียนเรื่องราวชีวิตในแต่ละก้าวเดินของเรา” การทำ Journaling นั้นเป็นสิ่งที่ฟังดูเรียบง่ายแต่ก็ทรงพลังอย่างมาก เราสามารถฝึกจดบันทึกสิ่งที่เราพบเจอแบบอิสระ (free writing) ได้จากการทำสิ่งนี้ โดยการทำ Journaling นั้นเป็นการที่เราจะเขียนบันทึกของตัวเองขึ้นมา ซึ่งสิ่งที่จะอยู่ในบันทึกนั้นควรจะเป็นสิ่งที่อยู่ในใจของเราทั้งเรื่องอารมณ์ความรู้สึก ความคิด ความคาดหวัง ความปรารถนา และถูกเขียนออกมาอย่างไม่ปิดกั้นหรือตัดสินไปก่อน การเขียนบันทึกในลักษณะนี้จะช่วยให้เราฝึกการสังเกตตัวเองในเชิงลึก สามารถมองเห็นสิ่งที่อยู่ในใจของเราเองได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น และในขณะเดียวกันก็ช่วยสนับสนุนการเติบโตทางจิตวิญญาณของเราผ่านการสำรวจตัวเองโดยใช้การเขียนเป็นเครื่องมือ ประโยชน์ที่เราอาจได้รับจากการทำ Journaling นั้นจึงเป็นการที่เราจะได้เข้าใจตัวเอง คนรอบข้าง และธรรมชาติของชีวิตที่ดำเนินไปในแต่ละวันชัดเจนมากยิ่งขึ้น ช่วยจัดระเบียบเรื่องที่ยุ่งยากในหัว และส่งเสริมความเชื่อมั่นศรัทธาในบางสิ่ง ซึ่งรวมไปถึงการมีศรัทธาในศักยภาพของตัวเอง
อ่านบทความทั้งหมด >>> ความสุขทางจิตวิญญาณ | หนึ่งในตัวช่วยด้านสุขภาพใจสำหรับพนักงานจนถึงผู้บริหาร
- ตอนที่ 1: ทำสิ่งที่สบายใจ และความเชื่อด้านจิตวิญญาณ
- ตอนที่ 2: ความสุขทางจิตวิญญาณในมุมจิตวิทยา
- ตอนที่ 3: ความสุขทางจิตวิญาณของคนวัยทำงาน
- ตอนที่ 4: การสร้างองค์กรที่มีจิตวิญญาณ
อ่านบทความทั้งหมด >>> เข้าใจคนอื่นหรือเข้าใจตัวเองก่อน? Empathy VS Self-empathy
อ่านบทความทั้งหมด >>> กลยุทธ์การสร้างสังคมการทำงานที่ดีต่อใจ | Strategies for Psychological Healthy Workplaces