ความสุขทางจิตวิญญาณ #1 | หนึ่งในตัวช่วยด้านสุขภาพใจสำหรับพนักงานจนถึงผู้บริหาร (Spiritual Well-being)
ตอนที่ 1: ทำสิ่งที่สบายใจ และความเชื่อด้านจิตวิญญาณ
โดย นักจิตวิทยาการปรึกษา คุณเจ เจษฎา กลิ่นพูล | Counseling Psychologist @ ใจฟูบริการดูแลสุขภาพใจพนักงานสำหรับองค์กร
ขอแค่ทำแล้วสบายใจก็ทำไปเถอะ
หลายครั้งเราอาจพบได้ว่าชีวิตนี้มีการเรียกร้องหาเหตุผลของการกระทำอยู่มากมายจนเกินไป นั่นอาจเป็นตัวช่วยที่ทำให้เราเป็นคนรู้จักคิดก่อนทำ หรือไม่ก็ดูจะเป็นคนที่มีเหตุผลมากขึ้นไม่มากก็น้อย แต่ใครจะรู้ว่าความ “มากเกินไปของการหาเหตุผล” นั้นเองอาจเป็นสิ่งที่สร้างกรอบในชีวิตให้กับเรามากจนเกินไป และนำมาสู่ความเครียดอย่างเรื้อรัง
คำที่ผมยกมาพูดถึงก่อนหน้านี้ว่า “ขอแค่ทำแล้วสบายใจก็ทำไปเถอะ” เป็นคำที่ดูจะคุ้นหูสำหรับหลายคน แต่ด้วยความเป็นสิ่งมีชีวิตเจ้าเหตุผลของเราแล้ว คำพูดนี้คงทำให้เราคิดต่อไปได้อีกเรื่อยๆ ว่านั่นเป็นคำแนะนำที่เหมาะสมแล้วจริงๆ หรอ?
ยังไงก็ตาม แน่นอนว่าคำแนะนำนี้คงไม่ได้มีเหตุผลเสียเลยในบางสถานการณ์ แต่ในกรณีของความเชื่อ ความศรัทธา หรือที่หลายๆ ในสมัยนี้เรียกว่า “การมู” (มูเตลู) กลับดูเหมือนจะเป็นคำแนะนำที่ฟังขึ้นซะอย่างนั้น
แต่เรื่องของความเชื่อกับสุขภาพใจที่ดีนั้นมันจะเกี่ยวข้องกันอย่างไร นั่นคงเป็นเรื่องที่อาจจะพออธิบายเหตุผลของการไม่ใช้เหตุผลแบบนี้ได้ แต่ยังไงก็ตาม “ถ้าทำแล้วสบายใจ จะแคร์ทำไมว่าความเชื่อนี้มีเหตุผลรึเปล่า?”
Spiritual well-being (ความสุขทางจิตวิญญาณ) คำอธิบายในเหตุผลว่าทำไมเราจึงควรมีความเชื่อ?
Spiritual well-being หรือ ความสุขทางจิตวิญญาณ (บ้างเรียกว่า สุขภาวะทางจิตวิญญาณ บ้างก็เรียกว่า ความผาสุกทางจิตวิญญาณ) เป็นตัวแปรทางจิตวิทยาในจิตใจของเราที่นิยามตรงตัวได้ยากอยู่พอสมควร แต่หากเราลองนึกดีๆ แล้ว ทุกคนอาจมีสิ่งนี้อยู่ในตัวไม่มากก็น้อย หรือไม่ เราก็มักเห็นได้จากเรื่องเล่าต่างๆ มากมายที่เราเคยได้พบเจอและบ่งบอกว่ามีพลังงานบางอย่างอยู่ที่ช่วยให้ใจเรารู้สึกดีขึ้นแต่บอกไม่ได้ว่าคืออะไร
นิยามของ Spiritual well-being จึงอาจนิยามความหมายคร่าวๆ ได้ว่า มันเป็นภาวะหนึ่งในใจของเราที่รู้สึกมีความสุขสงบในส่วนลึกที่เป็นนามธรรมอย่างมาก แต่ก็เป็นความรู้สึกที่คล้ายกับว่าเรากำลังมีความสัมพันธ์กับบางสิ่งบางอย่างที่มองไม่เห็น และคอยใช้สิ่งนั้นเป็นตัวยึดเหนี่ยวจิตใจของเราเอาไว้อย่างมั่นคง
ที่เป็นแบบนี้ นั่นก็เพราะมนุษย์เราต่างเป็นสิ่งมีชีวิตที่ต้องการความหมายบางอย่างในการใช้ชีวิต เราต่างต้องการจุดหมายและความรู้สึกเชื่อมโยงกับบางสิ่งเพื่อมีแนวทางในการดำรงชีวิตต่อไปได้ แต่บางครั้งสิ่งเหล่านั้นก็อาจจะไม่สามารถประกอบสร้างได้ด้วยเหตุผลหรือไม่สามารถได้รับจากคนรอบข้าง แต่อาจเป็นความหมายของสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวเรา
พระเจ้า ศาสนา ความเชื่อ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรืออะไรกันแน่ที่เป็นความหมายของเหตุผลทางจิตวิญญาณ?
เพื่อนคนหนึ่งของผมที่เป็นบาทหลวงของศาสนาคริสต์เคยบอกไว้ประมาณว่า “เราไม่สามารถใช้เหตุผลของเราเพื่อเข้าใจเหตุผลของพระเจ้าได้” นั่นอาจฟังดูเหมือนคำพูดที่บอกให้เราเชื่ออย่างงมงายหรือไม่ตั้งคำถาม แต่ในความหมายแท้จริงที่เพื่อนของผมคนนี้ได้อธิบายต่อคือการบอกว่า การใช้เหตุผลของคนเรานั้นมีจำกัดในการเข้าใจบางสิ่งบางอย่าง และคำพูดนี้ก็มีไว้เพื่อให้เราต่างรู้จักเจียมตัวไม่ทะนงตนจนคิดว่าเราสามารถทำได้ทุกอย่าง
ยังไงก็ตาม ผมเองไม่ได้เป็นคนที่นับถือศาสนาคริสต์ตามเพื่อนบาทหลวงของผม แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าคนอย่างผมจะไม่สามารถให้ความหมายของเหตุผลทางจิตวิญญาณได้
ในมุมมองของนักจิตวิทยาแบบผม มีหลายครั้งเหลือเกิน (จนแทบจะเรียกได้ว่ามากเกินไป) ที่พบได้ว่า ความเครียดมักเกิดขึ้นในเวลาที่เราคิดว่าตัวเองจะสามารถควบคุมสิ่งต่างๆ ในชีวิตได้
“รู้งี้ถ้าทำแบบนั้นก็คงดี” เป็นคำพูดที่ผมได้ยินบ่อยพอๆ กับการบอกว่า “ถ้าฉัน/ผมมีพยายามมากกว่านี้ก็คงจะสำเร็จไปแล้ว”
แต่ใครล่ะที่จะรู้อนาคต และนั่นเองที่เป็นความย้อนแย้งหนึ่งในการใช้เหตุผลของเราที่ทำให้เกิดความเครียดและดูไร้เหตุผลเสียยิ่งกว่าเรื่องความเชื่อทางจิตวิญญาณแบบนี้ ดังนั้น เวลาที่เรากำลังรู้สึกตึงเครียดเราอาจต้องรู้จักเจียมตัวและเข้าใจว่าโลกนี้มีทั้งสิ่งที่เราควบคุมได้และควบคุมไม่ได้อยู่ และในสถานการณ์แบบนั้นเองที่เราอาจต้องใช้ความเชื่อความศรัทธาอย่างแรงกล้าในบางสิ่งเพื่อให้ความหมายของสถานการณ์และผ่อนคลายตัวเองลง
การพบความสุขทางจิตวิญญาณก็อาจเป็นหนึ่งในวิธีการแบบนั้น นั่นหมายความว่าเราอาจต้องมีความเชื่อและรู้สึกสัมพันธ์อย่างศรัทธากับบางสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวเราทั้งที่อาจไม่สามารถอธิบายได้ด้วยเหตุผล แต่มันกลับเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวทางจิตใจที่สำคัญพอจะให้เราผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบากไปได้
ยังไงก็ตาม การให้ความหมายของเหตุผลทางจิตวิญญาณไม่ได้จำเป็นที่จะต้องเกี่ยวข้องกับศาสนาหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ผู้คนมากมายต่างกราบไหว้บูชา แต่อาจเป็นสิ่งใดก็ได้ที่ทำให้เรารู้สึกสงบจากส่วนลึกในใจได้ สัมผัสได้ถึงความพึงพอใจในตนเอง มองเห็นเป้าหมายในชีวิต และรู้สึกผูกพันกับสิ่งที่เรายึดเหนี่ยวเอาไว้ เช่น สิ่งเหนือธรรมชาติ เป้าหมายชีวิต ความหวังความฝัน คุณค่าและความสามารถภายในตนเอง ความรัก หรือแม้แต่ ความรู้สึกรับผิดชอบต่อส่วนรวมหรือการอยู่ร่วมกันเป็นหมู่คณะ เป็นต้น
นี่จึงอาจเป็นเรื่องสำคัญที่เราอาจต้องจำไว้ให้ขึ้นใจว่า เรื่องของจิตวิญญาณเป็นสิ่งที่ขึ้นกับมุมมองของแต่ละคนมากกว่าความเชื่อทางศาสนาที่ใกล้ชิดกับความเชื่อและพิธีกรรมจนเกินไป
อ่านบทความทั้งหมด >>> ความสุขทางจิตวิญญาณ | หนึ่งในตัวช่วยด้านสุขภาพใจสำหรับพนักงานจนถึงผู้บริหาร
- ตอนที่ 1: ทำสิ่งที่สบายใจ และความเชื่อด้านจิตวิญญาณ
- ตอนที่ 2: ความสุขทางจิตวิญญาณในมุมจิตวิทยา
- ตอนที่ 3: ความสุขทางจิตวิญาณของคนวัยทำงาน
- ตอนที่ 4: การสร้างองค์กรที่มีจิตวิญญาณ
อ่านบทความทั้งหมด >>> เข้าใจคนอื่นหรือเข้าใจตัวเองก่อน? Empathy VS Self-empathy
อ่านบทความทั้งหมด >>> กลยุทธ์การสร้างสังคมการทำงานที่ดีต่อใจ | Strategies for Psychological Healthy Workplaces